"ผู้พันเบิร์ด" น้อมรำลึก "ร.9" เผยสิ่งที่พระองค์ทรงงานค้างไว้เมื่อปี 55
"พ.อ.วันชนะ" น้อมรำลึก "ในหลวง ร.9" เปรียบดัง "สมเด็จพระนเรศวรฯ" ทรงงานเพื่อประชาชน จนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ เผย พระองค์ เตรียมวางแผนทำแก้มลิงแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคตะวันออกปี 2555 ห่วงน้ำท่วมซ้ำเหมือนปี 2554 แต่พระองค์ประชวรเสียก่อน
13 ต.ค.2564 พ.อ.วันชนะ สวัสดี หรือ ผู้พันเบิร์ด รองโฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะนักแสดงรับบทนำภาพยนต์สมเด็จพระนเรศวรฯ กล่าวน้อมรำลึกถึง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต13 ตุลาคม 2564 โดยระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นดั่งสมเด็จพระนเรศวร ที่ทรงงานเพื่อประชาชน จนวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
จากเรื่องเล่าหลังพระบรมโกศเมื่อทราบความจริงทั้งหมด ยิ่งทำให้รู้ว่า ที่คิดว่ารู้นั้นรู้น้อยมาก ที่คิดว่ารักนั้นรักน้อยอยู่ ที่คิดว่าภักดีนั้นคงไม่พอ
ตนเห็นโต๊ะที่ต่างไปจากงานพิธีตัวหนึ่งตั้งอยู่หลังหีบพระบรมศพ ก็ได้เรื่องดีๆเป็นกำลังใจ เรื่องนี้ได้รู้ว่า พระองค์ทำเพื่อคนไทยมาตลอดแม้ลมหายใจสุดท้ายของพระองค์ หลายคนที่ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพบน แม้จะได้ขึ้นไปกราบเพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากที่รอต่อแถวเป็นหลายชั่วโมง หรือเป็นวันก็มี ตนและครอบครัวคือหนึ่งในคนที่ได้ไปซึมซับบรรยากาศครั้งนั้น
อ่านข่าว : "นายกรฯ" วางพวงมาลาและถวายบังคมเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต "ในหลวง ร.9"
ผู้พันเบิร์ด เล่าต่อว่า เมื่อเดินก้าวเข้าไปในดุสิตมหาปราสาท ได้พยายามเก็บภาพจำและนึกถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้นเพื่อเก็บไว้กับตัวเองให้ครบถ้วนที่สุด และเมื่อกราบเรียบร้อย เจ้าพนักงานให้เดินออกไปทางขวา และในระหว่างที่เดินออก ได้มองเห็นด้านหลังพระบรมโกศ ที่มีหีบพระบรมศพตั้งอยู่ พื้นที่บริเวณนั้นถูกจัดเป็นระเบียบ มีโต็ะตัวหนึ่งตั้งอยู่ เป็นโต๊ะที่แตกต่างจากงานพระราชพิธี เห็นมีของตั้งอยู่บนโต๊ะด้วย ด้วยความสงสัยเมื่อลงไปใส่รองเท้าเสร็จแล้วจึงถามกับเจ้าพนักงานและสืบค้นจากพี่ๆที่รู้จักในภายหลังได้ความว่า
"โต๊ะนี้เป็นโต๊ะทรงงานของพระองค์ บนโต๊ะมีแผนที่ แว่นขยาย ดินสอ ใต้โต๊ะมีกระเป๋าหนังสือน้ำตาล1ใบ แผนที่บนโต๊ะนั้นเป็นระวาง จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่เป็นฉะเชิงเทราเพราะว่าพระองค์กำลังวางแผนทำแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมบริเวณภาคตะวันออกในปี 55 แต่พระองค์ประชวรเสียก่อน เลยไม่ได้กลับมานั่งโต๊ะทรงงานนี้อีก เหตุเพราะเมื่อปี54 น้ำท่วมหนักมาก พระองค์กลัวว่าถ้าท่วมอีก เศรษฐกิจจะแย่ ประชาชนจะลำบากหนัก จึงพยายามวางแผนทำแก้มลิงให้ภาคตะวันออก"
และภาพจำที่คนไทยคุ้นตาคือภาพที่พระองค์ออกมาประทับที่ระเบียงของ โรงพยาบาลศิริราชเพื่อทอดพระเนตรระดับน้ำและการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา แสดงให้เราเห็นถึงความตั้งพระทัยอันแน่วแน่ในการที่จะแก้ไขปัญหาน้ำให้กับชาวไทย
จนกระทั่งวันที่ พระองค์เสด็จสวรรคต ด้วยเหตุการณ์ดังกล่าวนี้จึงทำให้นึกย้อนกลับไปถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่พระองค์ทรงยกทัพ ขึ้นไปทางเหนือเพื่อที่จะไปปราบอังวะในปี 2148 แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างความเป็นปึกแผ่นของแผ่นดินอโยธยาในตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นเฉกเช่นเดียวกับที่ในหลวงรัชกาลที่9ทรงแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนชาวไทย
และหากจะเล่าเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่9 จึงต้องเล่าผ่านสายน้ำครั้งหนึ่งเมื่อประเทศเกิดความแห้งแล้งสิ่งที่พระองค์พระราชทานมาให้คือน้ำจากฝากฟ้าผ่านโครงการฝนหลวง เพื่อให้พื้นแผ่นดินมีความชุ่มชื้นหลังจากนั้นพระองค์ได้พระราชทานแนวคิดในการสร้างเขื่อนและฝ่ายชะลอน้ำเพื่อให้น้ำเหล่านั้นไหลช้าลงน้ำจึงซึมลึกลงไปใต้ดินสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นแผ่นดินทั้งบนดินและใต้ดินเมื่อดินมีความอุดมสมบูรณ์ แล้วจึงเกิดเป็นพืชพันธ์ธัญญาหารและป่าไม้พระองค์ก็ได้พระราชทานแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อใช้ในการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดเป็นความมั่นคงในความเป็นอยู่ของประชาชนและการประกอบอาชีพ
หลังจากนั้น เมื่อพวกเราได้สร้างหมู่บ้านตัดถนนขวางทางน้ำทำให้เกิดน้ำท่วมโดยเฉพาะน้ำไหลเข้าท่วมในเขตเศรษฐกิจพระองค์จึงได้ทำการบริหารจัดการน้ำผ่านโครงการแก้มลิงเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเหล่านั้นไหลเข้าท่วมพื้นที่เขตเศรษฐกิจเราจึงได้ใช้น้ำอย่างมีความสุขหลังจากที่ใช้น้ำกลายเป็นน้ำเสียแล้วพระองค์ก็ยังตามมาแก้ไขปัญหาน้ำเสียผ่านโครงการกังหันชัยพัฒนาอีกด้วยเรียกได้ว่าพระองค์นั้นให้น้ำจากฟากฟ้าจนถึงตามมาบำบัดน้ำเสียให้กับพวกเราโดยภาพที่แสดงการทรงงานเรื่องน้ำ ของพระองค์ที่อธิบายภายในภาพเดียวคือภาพที่ชื่อ “จากนภาผ่านภูผา สู่มหานาที”
ในเรื่องของเขื่อนนี้จะพูดว่าป้องกันน้ำแล้งแต่เพียงเท่านี้คงจะไม่ใช่เพราะเรื่องของเขื่อนนี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการน้ำของทั้งประเทศเพราะนอกจากเขื่อนจะช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้ง ยังช่วยป้องกันน้ำท่วมและสร้างความชุ่มชื้นให้แก่ดินอีกด้วยแต่ปัจจุบันที่น้ำยังคงท่วมนี้ก็เป็นเพราะการตัดถนนและการสร้างหมู่บ้านรวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าเป็นสำคัญนอกจากนี้ประโยชน์ของการบริหารจัดการน้ำคือการใช้น้ำจืดผลักดันน้ำเค็มที่หนุนสูงบริเวณปากแม่น้ำด้วยนั่นหมายความว่าเป็นการรักษาสภาวะแวดล้อมป่าชายเลนและ ยังมีส่วนสำคัญกับเรื่องของการผลิตน้ำประปาในบริเวณจังหวัดที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำอีกด้วย
ความเป็นนักปราชของพระองค์กี่ประการหนึ่งคือพระองค์ยังเป็นผู้ที่นำหลักวิชาการที่ยากหลายหลักวิชามารวมกันและคิดออกมาเป็นการปฏิบัติที่ง่ายเพื่อให้สามารถปฏิบัติได้โดยกว้างขวาง เช่นการขุดบ่อน้ำให้ลึก 5 เมตรมีที่มาจากการที่พระองค์ได้ทำการทดลองวิจัยและสังเกตว่าน้ำบนผิวดินนั้นจะละเหยวันละ 1 เซนติเมตรในประเทศไทยจะมีฝนตกโดยเฉลี่ยประมาณ 50 วันและฝนจะไม่ตก 300 วันนั่นหมายความว่าถ้าเราขุดบ่อลึก 3 เมตรน้ำจะมีใช้ไม่เพียงพอตลอดทั้งปีนั่นเป็นที่มาของการที่พระองค์ได้ให้แนวคิดในการขุดบ่อมีความลึก 5 เมตรจึงจะเพียงพอต่อการใช้น้ำตลอดทั้งปี อันนี้กล่าวได้ว่าเป็นความอัจฉริยภาพและเป็นนักปราชในเรื่องน้ำอย่างแท้จริง
" ในวันที่ 13 ตุลาคม 2564 ผมได้มารำลึกถึงพระองค์ที่อนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ด้วยความรู้สึกในพระมหากรุณาที่คุณของพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์นี้มีความคล้ายคลึงกันในการส่งงานเพื่อแผ่นดินตลอดพระชนม์ชีพด้วยความกล้าหาญเสียสละอย่างแท้จริง"
อีกทั้งภาพจำของในหลวงรัชกาลที่9 ที่เสด็จมาที่ทุ่งมะขามหยอง บริเวณ อนุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อ วันที่25 พ.ค. 2555เพื่อมาทอดพระเนตร ทุ่งมะขามหย่องแห่งนี้ ซึ่งผมจำเนื้อความที่พระองค์ได้บอกว่าการที่น้ำท่วมทุ่งมะขามยองนี้ถือเป็นเรื่องธรรมชาติและท่วมทุกปีและก็เป็นประโยชน์ในการป้องกันการรุกรานจากฝ่ายข้าศึกซึ่งถ้าสามารถเก็บน้ำที่ท่วมทุ่งมะขามหย่องนี้นำไปใช้ในหน้าแล้งก็จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก การเสด็จในครั้งนั้นเป็นภาพจำของประชาชนทั้งประเทศโดยเฉพาะประชาชนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพราะนั่นเป็นช่วงปลายของพระชนม์ชีพที่น้อยครั้งนักที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินไปต่างจังหวัด และการเสด็จในครั้งนั้นฉลองพระองค์ในชุดทหารรบพิเศษ เฉกเช่นเดียวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ฉลองพระองค์ในชุดรบเพื่อออกไปทำการรบเช่นเดียวกัน