โคราชคุมเข้มตลาดสุรนารี ไม่มีใบอนุญาตห้ามประกอบกิจการ
ทน.นครราชสีมา คุมเข้มตลาดสุรนารี ไม่มีใบอนุญาตห้ามประกอบกิจการ ผุดมาตรการป้องโรคติดต่อ ฝ่าฝืนเจอโทษทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 16 ตุลาคม ที่ตลาดสุรนารีหรือตลาดสุรนคร เมืองใหม่ ข้างโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนคร (ทน.) นครราชสีมา พร้อมบุคลากรสาธารณสุขและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีผู้บริหารตลาดสุรนารีได้ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง ระบุ “ตลาดสุรนารี โคราช พร้อมเปิด 16 ต.ค” โดยมีเจ้าหน้าที่เทศกิจ ทน.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมือง นครราชสีมา สนธิกำลังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยป้องปรามการกระทำที่ผิดกฎหมาย
อ่านข่าว : ตลาดสุรนารีพร้อมเปิด ร่วมมือเทศบาลนครฯ ช่วย 1,400 ผู้ค้า-ลั่นไม่ใช่ตลาดเถื่อน
บริเวณทางเข้าออกตลาดกลางค้าส่งผักผลไม้ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ริมถนนมิตรภาพ พบพนักงานตลาดเอกชนได้ดำเนินมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด จึงอนุญาตให้บุคคลเข้ามาในพื้นที่ตลาดสุรนารี ตรวจสอบไม่พบการประกอบกิจการค้าตามที่กล่าวอ้างกับสื่อมวลชนแต่อย่างใด ผู้เข้าไปส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าได้มาทำความสะอาดและปรับปรุงแผงค้า เพื่อเตรียมประกอบกิจการและช่างรับเหมาดำเนินการซ่อมบำรุงระบบสาธารณูปโภค
นายไกรสีห์ รองนายก ทน.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานะของตลาดสุรนารีไม่พบผู้ป่วยรายใหม่กว่า 10 วัน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาให้พื้นที่ตลาดสุรนารีพ้นจากการเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย จึงอนุญาตให้เข้าไปปรับปรุงมาตรการสาธารณสุข ระบบบำบัดน้ำเสียและการจัดการขยะมูลฝอยมิใช่เปิดพื้นที่ให้ประกอบกิจการค้า เนื่องจากตลาดไม่มีใบอนุญาตซึ่งต้องผ่านการประเมินตามมาตรการให้ครบกระบวนการก่อน
ทั้งนี้ ทน.นครราชสีมา ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) การสาธารณสุข พ.ศ.2535 และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตาม พ.ร.บ โรคติดต่อ พ.ศ.2558 พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อให้การป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19ภายในตลาดสุรนารีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามข้อกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นสมควรมีคำสั่งหนังสือ ทน.นครราชสีมา ที่ นม 52001/6659 วันที่ 21 กันยายน 2564 เรื่อง คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกอบกิจการตลาดจนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งถือเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ โรคติดต่อพ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
รวมทั้งเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ