1 พ.ย.เดิมพัน "เปิดประเทศ" เช็คโค้งสุดท้าย "Bangkok Sandbox"
โค้งสุดท้าย "เปิดประเทศ" เดิมพันตัวเลขทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และสถานการณ์ "โควิด" ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564
เหลือเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์สุดท้ายจะถึงดีเดย์ "เปิดประเทศ" 1 พ.ย.2564 รับนักท่องเที่ยวนำร่อง 10 ประเทศเข้าเดินทางในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ซึ่งเป็นไปตามแผนรัฐบาลในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564
แต่หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญต่อความพร้อม "เปิดเมือง" ยังอยู่ที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ โดยเฉพาะ "ประตูบานแรก" พื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดด่านหน้าในการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามนโยบายของกระทรวงท่องเที่ยวและกัฬา ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นไป
สำหรับแนวทางประเมืองตามที่ "ผู้ว่าฯ กทม." พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้ประกาศไว้ต้องอยู่บน 3 เงื่อนไข ตั้งแต่ 1.ประชากรกทม.ต้องได้รับวัคซีน 2 เข็มอย่างน้อย 70 % ขึ้นไป 2.จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง และ 3.ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง
ขีดเส้นไปที่เงื่อนไขประชากรในกรุงเทพฯ ต้องได้รับ "วัคซีน 2 เข็ม" อย่างน้อย 70 % นั้น เป็นประเด็นสำคัญต่อการรับมาตรการเปิดประเทศ เพราะต้องอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยเพื่อไม่ให้การเปิดประเทศครั้งนี้ กลายเป็นการเปิด "คลัสเตอร์" แพร่ระบาดรอบใหม่
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดของวันที่ 18 ต.ค.64 ถึงความคืบหน้าผลการดำเนินการให้บริการ "วัคซีนโควิด" ในกรุงเทพฯ ทั้ง 3 กลุ่มเข็ม มีดังนี้
เข็มที่ 1 เพิ่มขึ้น 11,073 ราย สะสมอยู่ที่ 8,094,970 ราย
เข็มที่ 2 เพิ่มขึ้น 20,349 ราย ครบ 2 เข็ม สะสมอยู่ที่ 5,371,881 ราย
เข็มที่ 3 เพิ่มขึ้น 1,280 ราย สะสมอยู่ที่ 523,376 ราย
อ่านที่เกี่ยวข้อง : เจาะโรดแมพ "วัคซีน กทม." นับถอยหลัง 31 วันเปิดเมือง 1 พ.ย.
สำหรับข้อมูลตัวเลขการฉีด "วัคซีนโควิด" ให้ครบ 2 เข็มจากข้อมูลสะสมล่าสุด 5,371,881 รายนั้น กทม.มีเป้าหมายเดิมฉีดให้ได้ 70 % ตามทะเบียนราษฎร์ผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปจากจำนวน 7,699,174 คน อยู่ที่ 5,389,421 คน ไม่เกินวันที่ 22 ต.ค.2564 ขณะนี้ยังมียอดห่างจากเป้าหมาย 70 % อีกเพียง 17,540 คน ทำให้ กทม.เหลือเวลา 13 วัน ต้องฉีดให้ได้เฉลี่ยวันละ 1,349 โดสจะถึงเป้าหมาย 70 % แต่ กทม.คาดว่าจะให้บริการเข็ม 2 ครบ 80 % ในวันที่ 30 ต.ค.64
แต่แผนเปิดเมืองที่กำหนด ยังอยู่บน "เงื่อนไข" ห้วงเวลาการฉีดวัคซีน "เข็มแรก-เข็มสอง" เช่นกัน โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน "แอสตร้าเซนเนก้า" เข็มแรกไปแล้ว ต้องใช้เวลาอีก 8-12 สัปดาห์ถึงจะเริ่มฉีดเข็มที่ 2 ได้
แต่ระหว่างนี้การเป้าฉีดวัคซีนให้ครบ 70 % กทม.ได้หารือกับ "การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย" เพื่อวางโมเดลโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety&Health Administration :SHA) สำหรับสถานประกอบการในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้รับมาตรฐาน SHA ประกอบด้วย
ภัตตาคารอาหาร สุขภาพ ความงาม โรงแรม ที่พัก โฮมสเตย์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า นันทนาการ สถานที่ท่องเที่ยว กีฬาและการท่องเที่ยว ยานพาหนะ การจัดประชุม โรงมหรสพ บริษัทนำเที่ยว ร้านขายของที่ระลึกและอื่นๆ รวมทั้งหมดในพื้นที่ 3,307 แห่ง
แต่ในกลุ่ม "สถานประกอบการ" ที่ได้รับเครื่องหมาย SHA+ เพิ่มขึ้นมา ต้องมีพนักงานที่ได้รับวัคซีนครบโดสอย่างน้อย 70% จากยอดพนักงานทั้งหมดในองค์กร โดยมีตัวเลขสถานประกอบการในกรุงเทพฯ ที่ยื่นขอเป็น SHA+ จำนวน 352 แห่ง
ไม่ใช่แค่นั้น แต่ กทม.ได้เตรียมร่าง "แผนรองรับผู้ติดเชื้อรายใหม่" ที่เป็นนักท่องเที่ยว ในการรักษาและการป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพ" Standard Operation Procedure (SOP) ตามที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม. เตรียมเสนอไปที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 ก่อนการเดินทางมาถึงประเทศไทย (Pre Arrival) ระยะที่ 2 เมื่อเดินทางมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ หรือดอนเมือง และเข้าพักในกรุงเทพฯ (Arrival) และระยะที่ 3 ออกเดินทางออกนอกกรุงเทพมหานครหรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย (Before Departure)
ที่สำคัญได้กำหนด "มาตรฐาน" ขั้นตอนปฏิบัติงาน 11 ด้าน ประกอบด้วย
1.มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานในการรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง
2.มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางจากสนามบินเข้าที่พักโดยไม่แวะพักระหว่างทาง
3.มาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงานเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางถึงโรงแรม ที่พัก หรือโฮมสเตย์
4.มาตรฐานการท่องเที่ยวทางน้ำและการเดินเรือ
5.มาตรฐานสำหรับมัคคุเทศก์และผู้ช่วยมัคคุเทศก์
6.มาตรฐานการจัดการของเสียและขยะต่างๆ
7.มาตรฐานสำหรับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
8.มาตรฐานสำหรับการบริการสปาและนวดเพื่อสุขภาพ
9.มาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวชุมชน
10.มาตรฐานการเดินทางท่องเที่ยวภายในกรุงเทพมหานคร
11.มาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย SHA/ SHA+
นอกจากนี้ ในฐานะหน่วยงานด้านหน้า กทม.ได้เร่งรัดขอจัดสรร "วัคซีนโควิด" นำมาฉีดให้ประชาชนในกรุงเทพฯ โดยเร็วที่สุด โดยพร้อมกระจายฉีดไปที่หน่วยบริการความร่วมมือ "ไทยร่วมใจ" ทั่วกรุงเทพฯ รวมถึง กทม.ยังขอรับจัดสรรวัคซีนบูสท์เตอร์เข็มที่ 3 ให้กับประชาชนที่ได้รับวัคซีน "ซิโนแวค" ครบ 2 เข็ม
ที่สำคัญ กทม.ได้ประสานหน่วยงานเตรียมความพร้อม "เปิดประเทศ" ร่างคำสั่งตั้ง "ศูนย์ปฏิบัติการ Bangkok Sandbox" ทำหน้าติดตามการขับเคลื่อนมาตรการของทุกหน่วยงาน ให้เป็นไปตามแผนเพื่อเดินหน้านโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ บนความปลอดภัยในสถานการณ์โควิดสูงสุด
จากตัวเลขผู้ติดเชื้อ "โควิด" กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 14-18 ต.ค.64 มียอดต่ำกว่า 1.1 พันราย บวกกับความคืบหน้าการฉีด "วัคซีนโควิด" ในกลุ่ม 2 เข็มเหลือเพียง 17,540 คน ก่อนถึงวันเปิดประเทศ 1 พ.ย.64
ทำให้สถานการณ์ขณะนี้จะเป็นโค้งสุดท้ายชี้วัดความพร้อมในมิติต่างๆ กับเดิมพันตัวเลขเศรษฐกิจท่องเที่ยวและความปลอดภัยประชาชน ในไตรมาศสุดท้ายของปี 2564.