อัพเดท "มณีแดง" ยาต้านแก่ ความคืบหน้า สวทช. และแพทย์จุฬาฯวิจัย

อัพเดท "มณีแดง" ยาต้านแก่ ความคืบหน้า สวทช. และแพทย์จุฬาฯวิจัย

ฮอตโซเชียล อัพเดท "มณีแดง" ยาต้านแก่ ความคืบหน้า สวทช. และแพทย์จุฬาฯวิจัย

กลายเป็นกระแสตามหา “มณีแดง” จากความก้าวหน้าการต่อยอดยาย้อนวัย หรือเรียกง่ายๆว่า ยาชะลอวัย ยาต้านแก่ยาต้านชรา ขึ้นมาทันที

จากเหตุที่ สวทช. หรือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. พร้อมคณะนักวิจัย เข้าพบหารือกับ ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เรื่อง ความก้าวหน้าการต่อยอดยาย้อนวัย “มณีแดง” REjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules (RED-GEMs)เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 64

อัพเดท \"มณีแดง\" ยาต้านแก่ ความคืบหน้า สวทช. และแพทย์จุฬาฯวิจัย

รายงาน การต่อยอดยาย้อนวัย “มณีแดงREjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules (RED-GEMs) สถานการณ์ของงานวิจัยในปัจจุบัน มณีแดงแบบ Molecular Scissors สามารถย้อนวัยหนูที่ชราแล้วให้กลับเป็นหนุ่มได้ เมื่อเปรียบเทียบกับงานวิจัยอื่น ๆ ในต่างประเทศ ผลการศึกษาของยาต่าง ๆ ในต่างประเทศไม่สามารถย้อนวัยได้สมบูรณ์เท่ามณีแดง 

ทฤษฎีใหม่ของการแก่ของ DNA ของคณะผู้วิจัย เห็นว่ามณีแดงมีศักยภาพที่จะใช้ทำอะไรได้บ้าง แต่การรักษาโรคในปัจจุบันบางส่วนยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคสมองเสื่อม หัวใจวาย เป็นต้น


ศักยภาพ มณีแดง ทำอะไรได้บ้าง

1. รักษาโรคที่มีกลไกมาจากเซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะเสื่อมสภาพที่พบในคนชราหรือชราเร็วจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ หัวใจวาย ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดแข็ง เสื่อมสมรรถภาพใน อวัยวะต่าง ๆ แผล เป็นต้น

2. รักษาโรคที่อวัยวะเสื่อมสภาพจากการทำลายจากสิ่งแวดล้อม เช่น ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ปอดพังจากบุหรี่ ตับสมองพังจากสุรา ไตพังจากสารพิษ เป็นต้น

3. เสริมสมรรถภาพของคนชราให้มีศักยภาพทางกาย รูปร่างหน้าตา เท่ากับคนหนุ่มสาว

4. อาจใช้ป้องกันและรักษามะเร็งได้ (โดยการแก้ไขความชราของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ทำลายเซลล์มะเร็ง และป้องกันมะเร็งจากการลดโอกาสเกิดการแตกทำลายของ DNA อันนำไปสู่การกลายพันธุ์ของยีน)

5. ใช้ชะลอการเสื่อมของร่างกายในเด็กที่มีความผิดปกติของยีนซ่อมแซมดีเอ็นเอ

6. ใช้เสริมความงาม

7. ใช้เพิ่มผลิตผลทางการเกษตร

8. ใช้ป้องกันความพิการแต่กำเนิด

งานวิจัยหลังจากนี้ ได้แก่ การปรับโครงสร้างมณีแดงและวิธีการให้ยาที่เหมาะสม เช่น ทดสอบการให้ทางการสูดดม หรือการฉีดเข้าเส้น, ทดสอบมณีแดงในลิงเพื่อดูผลระยะยาว และทดสอบด้วยการใช้รักษาโรคที่อวัยวะเสื่อมสภาพที่พบในคนชราในหนูทดลอง ในสัตว์ใหญ่ และในคน (ที่ป่วยในระยะท้าย ๆ) เป็นต้น

ความสำเร็จของการทดลองนี้มีผลที่ดีเหนือความคาดหมาย ทำให้คณะผู้วิจัยมีความคาดหวังว่าควรจะขยายโครงการ ศึกษาไปทำการทดสอบในลิง ในสัตว์ใหญ่ และในคน รวมทั้งการทดสอบแก้ไขความชราในอิมมูนเซลล์ เพื่อรักษามะเร็งอีกด้วย เนื่องจากมณีแดงอาจสร้างรายได้ให้ประเทศไทยของเราในมูลค่ามหาศาลในรูปแบบต่าง ๆ กัน รัฐบาลอาจจะต้องวางแผนเพื่อให้เกิดรายได้จากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เรื่องมณีแดงนี้

มณีแดงอาจเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบันและเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสในอนาคต การวางแผนที่ดีจะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการแก้ปัญหานี้
 

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2561 กรุงเทพธุรกิจ ได้รายงาน นักวิจัยจุฬาฯ ค้นพบโมเลกุลที่จะเปิดประตูสู่การแก้ไขความชราของเซลล์ ลดอายุและเพิ่มความเสถียรของดีเอ็นเอ ตั้งชื่อว่า “มณีแดง” เล็งปี 2562 นำร่องทดสอบประสิทธิภาพการฟื้นฟูแผลภายนอกในหนูและสัตว์ใหญ่อย่างสุนัข หวังต่อยอดใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดินหน้าศึกษาวิจัยจนเชี่ยวชาญด้านอณูพันธุศาสตร์ และสภาวะเหนือพันธุกรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง กระทั่งได้พบ REjuvenating DNA by GEnomic stability Molecules (RED-GEMs) หรือโมเลกุลมณีแดง

อัพเดท \"มณีแดง\" ยาต้านแก่ ความคืบหน้า สวทช. และแพทย์จุฬาฯวิจัย

ศ.นพ.อภิวัฒน์ อธิบายว่า ดีเอ็นเอของมะเร็งกับดีเอ็นเอของคนสูงอายุนั้น มีปัญหาเหมือนกันที่ความไม่เสถียรของดีเอ็นเอ โดยสภาวะไม่เสถียรในเซลล์ชราเกิดจากการลดลงของสภาวะเหนือพันธุกรรม ทำให้ดีเอ็นเอสะสมรอยโรคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เซลล์ชะลอการทำงานและหยุดการการแบ่งตัว กลายเป็นเซลล์ชรา

ความบังเอิญจนเจอ “จอกศักดิ์สิทธิ์” ที่จะช่วยแก้แก่ เกิดจากการศึกษาสภาวะเหนือพันธุกรรม ที่ทีมผู้วิจัยได้ค้นพบสภาวะเหนือพันธุกรรมตัวใหม่ชื่อ “ไรน์อีดีเอสบี” มีลักษณะเป็นข้อต่อดีเอ็นเอที่มีปริมาณน้อยในเซลล์ชรา งานวิจัยนี้มีสมมติฐานว่า ข้อต่อนี้มีหน้าที่ปกป้องความเครียดของดีเอ็นเอไม่ให้มีรอยโรค

การลดลงของข้อต่อดีเอ็นเอเป็นกลไกสำคัญทำให้ดีเอ็นเอสะสมรอยโรคและทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในผู้สูงอายุ เช่น ความดันโลหิตสูง กระดูกผุ สมองเสื่อม และการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอไม่มีประสิทธิภาพจากการสะสมรอยโรคของดีเอ็นเอ เช่น แผลของผู้ป่วยเบาหวานหรือแผลไฟไหม้ ที่มักหายยาก เป็นต้น

“ผลวิจัยบงชี้ว่า โมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs จะช่วยในการเพิ่มข้อต่อดีเอ็นเอ ลบรอยโรคของดีเอ็นเอ แก้ไขความชราของเซลล์ได้ การค้นพบดังกล่าวใช้เวลาถึง 6 ปีจึงจะได้รับการตีพิมพ์ และในปี 2561 ก็ได้รับรางวัลนักวิจัยแกนนำ 20 ล้านบาท จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่จะนำมาใช้พิสูจน์กลไกการทำงานของมณีแดง ซึ่งต้องมีการเซ็ทอัพการทดสอบที่ไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงมีกฎระเบียบข้อบังคับมากมายต้องปฏิบัติตาม ทำให้กระบวนการทดสอบวิจัยต้องเตรียมการอย่างดี”

อย่างไรก็ตาม การใช้รักษาในคน ซึ่งต้องดูแลแทบจะทุกระบบในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับความชรา ไม่ว่าจะเป็น ตับ ไต สมอง กระดูก ฯลฯ จำเป็นต้องศึกษาระบบนำส่งยาไปยังอวัยวะเหล่านั้นทั่วร่างกาย รวมถึงการปลดปล่อยยาให้ละเอียด ต้องใช้เวลาวิจัยและทดสอบ จึงอยากจะผลักดันงานวิจัยให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น จึงจะนำร่องที่การใช้เพื่อรักษาแผลเบาหวานหรือแผลไฟไหม้

ศ.นพ.อภิวัฒน์ วางแผนทำการทดลองใช้มณีแดงรักษาแผลในหนู เพื่อหาคำตอบความสามารถฟื้นฟูเซลล์ที่สึกหรอเมื่อเทียบกับหนูกลุ่มควบคุม และคาดว่า ปี 2562 จะเสร็จสิ้นการทดสอบในหนู และจะเริ่มทดสอบในสัตว์ใหญ่ คือ สุนัข ที่มีลักษณะการทำงานของอวัยวะต่างๆ ใกล้เคียงกับมนุษย์ ซึ่งหากมีทิศทางที่ดีคาดว่า ภายใน 5 ปีจะทดสอบใช้รักษาแผลในคน โดยร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 


องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นการค้นพบที่อาจนำไปสู่ยาใหม่ ตอบเทรนด์การแพทย์และสุขภาพของโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้น ยาต้านความชราจะกลายเป็นตัวช่วยสำคัญในการต่อสู้กับความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเสื่อมของเซลล์

งานวิจัยนี้อยู่ในโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมใหม่ในทางการแพทย์ที่มีมูลค่าและคุณค่าสูง : ฟื้นฟูภาพดีเอ็นเอโดยโมเลกุลที่ทำให้จีโนมเสถียร และการตรวจกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว” ที่นอกจากเรื่องของมณีแดง ยังรวมถึงการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งจากโปรตีนหรืออาร์เอ็นเอในเม็ดเลือดขาว ที่จะมีความไวและจำเพาะสูงกว่าวิธีในปัจจุบัน

ทีมวิจัยค้นพบว่า เซลล์มะเร็งจะหลั่งสารที่ทำงานคล้ายฮอร์โมนทำให้เม็ดเลือดขาวจำนวนมากในกระแสโลหิตมีโปรตีนเปลี่ยนไป การตรวจหาโปรตีนเหล่านี้มีความจำเพาะและความไวสูง เช่น พบโปรตีนที่กำลังศึกษาในเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในความไวและความจำเพาะสูงถึง 95% การค้นพบนี้จะทำให้การตรวจคัดกรองมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ที่มา - สวทช. และ กรุงเทพธุรกิจ