"ผบ.ทร." แสดงความยินดี "พล.ร.ต. ทองย้อย" ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ

"ผบ.ทร." แสดงความยินดี "พล.ร.ต. ทองย้อย" ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ

"ผบ.ทร." แสดงความยินดี "พล.ร.ต. ทองย้อย" ได้รับพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากประกอบคุณงามความดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน องค์กร ทำคุณประโยชน์แก่กองทัพเรือและประเทศชาติโดยส่วนรวม

20  ตุลาคม 2564 พลเรือเอก สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ  เป็นประธานในพิธี แสดงความยินดีแก่  พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เนื่องในโอกาส    มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานยศ พลเรือตรี เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชน องค์กร ทำคุณประโยชน์แก่กองทัพเรือและประเทศชาติโดยส่วนรวม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2564 ซึ่งพิธีจัดให้มีขึ้น  ณ ห้องรับรอง  กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม  โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือ รวมถึงครอบครัวของ พลเรือตรี ทองย้อย  แสงสินชัย ร่วมในพิธี

 

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2488 ที่จังหวัดราชบุรี  ปัจจุบัน เป็นนายทหารพ้นราชการ สังกัดกองทัพเรือ ตำแหน่งสุดท้ายคือ ผู้อำนวยการกอง กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ แต่ยังคงทำงานด้านวรรณศิลป์ แต่งบทกาพย์กลอน และหนังสือเกี่ยวกับพุทธศาสนา และเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับด้านวรรณศิลป์ กับองค์กร สถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งราชการและเอกชน

ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2499 จบชั้นประถมศึกษา จากโรงเรียนวัดหนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ ราชบุรี
 พ.ศ. 2504 บวชเป็นสามเณร และเริ่มศึกษาบาลี สอบนักธรรมตรี ได้ สำนักเรียนวัดหนองกระทุ่ม
 พ.ศ. 2505 สอบนักธรรมโท ได้ สำนักเรียนวัดหนองกระทุ่ม
 พ.ศ. 2506สอบนักธรรมเอกได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. 2508 สอบประโยค ป. ธ. ๓ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี  ได้เป็น “พระมหาทองย้อย” ตั้งแต่นั้นมา
 พ.ศ. 2509 สอบประโยค ป. ธ. ๔ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
 พ.ศ. 2510 สอบประโยค ป. ธ. ๕ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
 พ.ศ. 2511 สอบประโยค ป. ธ. ๖ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. 2512 สอบประโยค ป. ธ. ๗ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. 2513 สอบประโยค ป. ธ. ๘ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. 2515 สอบประโยค ป. ธ. ๙ ได้ สำนักเรียนวัดมหาธาตุ ราชบุรี
พ.ศ. 2516 ไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย หลักสูตร ๒ ปี แต่เรียนได้แค่ ๑ ปี เกิดเหตุไม่สงบขึ้นใน มหาวิทยาลัยจนถูกสั่งปิด จึงต้องเดินทางกลับเมืองไทย
พ.ศ. 2530 รัฐศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 
 


ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2517 ลาสิกขา และเข้าทำงานเป็นนักวิชาการที่ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ เพื่อการค้นคว้า ทางพระพุทธศาสนา สำนักงานตั้งอยู่ในบริเวณวัดสระเกศ กทม.
พ.ศ. 2521 เข้ารับราชการเป็นนักภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร
 พ.ศ. 2524 เข้ารับราชการเป็นอนุศาสนาจารย์ กองทัพเรือ
พ.ศ. 2529 อนุศาสนาจารย์ กองบังคับการ กรมทหารราบที่ ๓ รักษาพระองค์ กรมนาวิกโยธิน (ชื่อหน่วยในขณะนั้น) ค่ายจุฬาภรณ์ จังหวัดนราธิวาส 
 พ.ศ. 2534 อนุศาสนาจารย์โรงเรียนนายเรือ
 พ.ศ. 2540 อนุศาสนาจารย์อาวุโส กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
 พ.ศ. 2542 รองผู้อำนวยการ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
พ.ศ. 2546 ผู้อำนวยการ กองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ
 พ.ศ. 2548 เกษียณอายุราชการ

ในช่วงที่เริ่มบวชเรียนตั้งแต่เป็นสามเณร พระภิกษุ จนถึงเข้ารับราชการ ได้ทำงานด้านวรรณศิลป์มาตลอด ทั้งแต่งบทกวี กาพย์เห่เรือ เขียนบทความ เขียนหนังสือ เป็นวิทยากรฯลฯ ปัจจุบันแม้จะเกษียณอายุราชการมานานแล้วแต่ นาวาเอก ทองย้อย ยังคงได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร และที่ปรึกษาทางด้านภาษาไทย ภาษาถิ่น ตลอดจนยังคงทำงานด้านวรรณศิลป์มาอย่างต่อเนื่อง 
 
ประวัติการสร้างสรรค์ผลงาน

    พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เป็นผู้มีอุปนิสัยสนใจใครรู้ต่อสิ่งหรือเรื่องราวต่างๆ มาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรม จึงมิได้สนใจเฉพาะหลักวินัยที่ปรากฏในหลักสูตรการเรียนของแต่ละชั้น แต่ยังเรียนรู้และตั้งข้อสังเกตต่อหลักวิชาและประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้พบเห็น ยิ่งได้ซึมซับหลักวิชา และความเป็นไปในสังคมมากเท่าใด ก็ยิ่งเกิดแรงบันดาลใจให้แสดงออกและสร้างสรรค์งานวรรณกรรม

   ในด้านกวีนิพนธ์ พลเรือตรี ทองย้อย เป็นผู้ที่มีความสามารถอย่างสูงในการแต่งบทกวี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ได้เริ่มแต่งมาตั้งแต่ครั้งยังบวชเรียน (ดังจะเห็นได้จากฉายาที่ได้รับตอนบวช คือ “วรกวินฺโท” ซึ่งหมายถึง “จอมกวีผู้ประเสริฐ”) โดยในยุคแรก ได้รับแรงบันดาลใจจากสภาพชีวิตชนบทที่ถือกำเนิด ทั้งความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ ผู้คน และวัฒนธรรม  ยิ่งเมื่อได้บรรพชาอุปสมบทและศึกษาปริยัติธรรมอย่างสนใจ ก็ยิ่งทำให้รู้ลึกถึงแก่นแกนของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดมีพระพุทธศาสนาเป็นบ่อเกิด จึงปรารถนาจะถ่ายทอดและจารึกสิ่งที่ได้ศึกษาและได้เห็นมา

 หลังจากลาสิกขา ก็ยังเขียนงานกวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง  เมื่อเข้ารับราชการในกองทัพเรือ ก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แต่งบทกวีต่างๆ ในโอกาสสำคัญของกองทัพเป็นประจำ ที่สำคัญคือคำร้อยกรองกาพย์เห่เรือ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ ในการเสด็จทางชลมารค การได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เป็นผู้แต่งบทกาพย์เห่เรือเหล่านี้ พลเรือตรี ทองย้อย จึงถือเป็นเกียรติยศอันสูงยิ่งที่ได้รับใช้ต่อองค์พระประมุขของประเทศ ที่ พลเรือตรี ทองย้อย จงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง และได้รับใช้หน่วยงานต้นสังกัด รวมทั้งยังเป็นการสร้างมรดกให้แก่แผ่นดินสืบไป

     ในด้านวรรณกรรมเกี่ยวกับวิชาการศาสนา จากผลของการศึกษาปริยัติธรรมจนจบเปรียญธรรม 9 ประโยค นอกจากทำให้มีความรู้ในทางธรรมเช่นเดียวกับมหาเปรียญทั่วไปแล้ว ยังทำให้เกิดปณิธานแน่วแน่ที่จะปกป้องเชิดชูพระพุทธศาสนา ซึ่งได้แก่หลักธรรมคำสอนให้บริสุทธิ์มั่นคงด้วย การเผยแผ่วิชาการของพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และบทบาทในเรื่องนี้ จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องอาศัยความรู้จริง ความวิริยะอุตสาหะในการค้นคว้า และความสามารถทางด้านวรรณกรรม ที่จะถ่ายทอดหลักวิชาซึ่งคนทั่วไปถือว่าเข้าใจยากและน่าเบื่อหน่ายให้คนเข้าใจได้ จึงมุ่งมั่นศึกษาและค้นคว้าวิชาการในพระพุทธศาสนาจนแตกฉาน ฝึกฝนการเขียนงานวิชาการจนสร้างผลงานออกมามิได้ขาด ซึ่งมีทั้งประเภทให้ความรู้ทางพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป และผลงานที่มุ่งชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อพระรัตนตรัยที่มีผู้อื่นเขียนขึ้น อันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนาได้