"กมธ.กฎหมายตำรวจ" ล็อกงาน "ตร." ให้บริการ-ช่วยเหลือ ปชช. ฝ่าฝืนถือผิดวินัย

"กมธ.กฎหมายตำรวจ" ล็อกงาน "ตร." ให้บริการ-ช่วยเหลือ ปชช. ฝ่าฝืนถือผิดวินัย

กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ปรับเนื้อหา หมวดวินัย ตำรวจ พบเพิ่มเนื้อหาให้ บริการ-ช่วยเหลือประชาชน หากฝ่าฝืน ถือผิดวินัย - หากดูหมิ่น เหยียดหยามประชาชน ให้ผิดวินัยร้ายแรง

         ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.... รัฐสภา ที่มีนายวิรัช รัตนเศรฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.  ว่าในการประชุมครั้งที่ 18 และ 19 เมื่อวันที่ 19 -20 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมได้พิจารณา หมวด 6  วินัยและการรักษาาวินัย โดยมีมติให้ปรับปรุงรายละเอียด อาทิ การกำหนดลักษณะการกระทำผิดวินัยที่แยกเป็น ผิดวินัยไม่ร้ายแรง และผิดวินัยในระดับรุงแรง โดยมาตรา 103  ว่าด้วยลักษณะต้องห้ามกระทำ และหากกระทำจะถือว่าผิดวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งได้ปรับปรุงเนื้อหา อาทิ ได้กำหนดถ้อยคำที่ชัดเจน ต่อข้อกำหนดให้รักษาระเบียบและเคารพระหว่างผู้ใหญ่ ผู้น้อย ซึ่งได้ตัดคำว่าผู้ใหญ่ ผู้น้อยออก เป็นใช้คำว่าตามสายบังคับบัญชา ยศ และตำแหน่งแทน

 

         นอกจากนั้น ยังกำหนดข้อความเพิ่มเติม คือ ต้องให้บริการ ช่วยเหลือตามสมควรกับประชาชน เพิ่มเติมจากเดิมที่ระบุว่าต้องต้อนรับ ให้ความสะดวก และเป็นธรรมกับประชาชน และได้ตัดข้อความที่ระบุห้ามดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ หรือ ข่มเหงประชาชนผู้มาติดต่อรา ชการหรือในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับหน้าที่ของตนออก และได้นำไปบัญญัติไว้ในลักษณะการกระทำผิดวินัยร้ายแรงแทน

         ทั้งนี้การปรับปรุงแก้ไขนั้น เพื่อให้เป็นลักษณะเดียวกันกับ พ.ร.บ.ระเบียบวินัยข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 หมวด 6 ว่าด้วยวินัยและการรักษาวินัย

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนั้นในการพิจารณามาตรา106 ว่าด้วยการให้อำนาจผู้บังคับบัญชาข้าราชการตำรวจสามารถใช้อาวุธหรือกำลังบังคับ ข้าราชการตำรวจผู้ก่อการกำเริบ หรือ ละทิ้งหน้าที่ ให้กลับไปทำหน้าที่ของตนเอง เมื่อมีเหตุจำเป็น และเพื่อรักษาประโยชน์ทางวินัยและปราบปรามตำรวจ ทั้งนี้ผู้บังคับบัญชาและผู้ช่วยเหลือ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาหากกระทำโดยสุจริตตามสมควรแก่เหตุ

อ่านข่าว : ผบ.ตร.ส่งสารวันตำรวจ64-ปลุกปกป้องสถาบันหลัก

         ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าที่ประชุมยังมีประเด็นที่เห็นต่างกัน คือ ควรตัดออก หรือจำกัดให้ใช้เฉพาะบางหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีภารกิจในลักษณะเดียวกับทหาร หรือ กำหนดข้อจำกัดการใช้อาวุธหรือกำลังบังคับ แต่ต้องไม่เป็น อันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ดีในเนื้อหายังไม่มีมติหรือข้อสรุปที่ชัดเจน เช่นเดียวกับมาตรา 107 ว่าด้วยกำหนดโทษทางวินัย 7 สถาน ได้แก่ ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง ตัดเงินเดือน ปลดออก และ ไล่ออก ซึ่งกมธ.มีประะเด็นพิจารณา คือ ควรเพิ่มโทษลดขั้นเงินเดือนหรือให้ออกจากราชการไว้ด้วยย รวมถึงเห็นว่าควรห้ามคิดโทษทัณฑกรรมขึ้นใหม่หรือใช้วิธีลงโทษทัณฑกรรมอย่างอื่นไว้ด้วยหรือไม่ ซึ่งกมธ.ยังไม่มีมติให้ปรับปรุง

 

         สำหรับการประชุมกมธ. นั้นล่าสุดคืบหน้าพิจารณาแล้ว 110 มาตรา จากทั้งหมด 172 มาตรา และกมธ.ฯ ได้นัดประชุมครั้งต่อไป วันที่ 26 - 28 ตุลาคม โดยตั้งเป้าพิจารณาให้ถึงมาตรา 147 .