กรมชลประทาน เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง หลังภาคใต้เริ่มมีฝนตกหนัก
กรมชลประทาน เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง ในพื้นที่ภาคใต้ หลังเริ่มมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ สภาพอากาศ อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ตามนโยบาย กอนช.
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.64 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 26/2564 เรื่อง “เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง” อิทธิพลของลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ นั้น
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนตก (ONE MAP) ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศและทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่ามีพื้นที่เฝ้าระวังในช่วงวันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน 2564
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทุกแห่ง และสำนักเครื่องจักรกล ให้ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง บริเวณพื้นที่จุดเสี่ยงต่างๆ
พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งให้พิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำ และเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ไว้รองรับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมา โดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน อ่างเก็บน้ำ และอาคารบังคับน้ำ รวมไปถึงแนวกั้นบริเวณริมแม่น้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนได้รับทราบอย่างทั่วถึงทันต่อเหตุการณ์ อีกทั้งให้เตรียมแผนเผชิญเหตุรับ สถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที ในกรณีเกิดสถานการณ์ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 หรือ ติดต่อ โครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา