สภา กทม.จี้ฝ่ายบริหาร เร่งจัดเก็บค่า "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ส่วนต่อขยายชั่วคราว หวั่นแบกภาระหนี้
สภา กทม.ยื่น จี้ฝ่ายบริหารประกาศจัดเก็บค่า "รถไฟฟ้าสายสีเขียว" ส่วนต่อขยายชั่วคราว หวั่น กทม.แบกภาระหนี้ เร่งของบรัฐบาลสนับสนุน
วันที่ 3 พ.ย. ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. ดินแดง นายคำรณ โกมลศุภกิจประธานสภา กทม. เป็นประธานการประชุมสภากทม. สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 2) ประจำปี 2564 โดยมีสมาชิกสภา กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. คณะผู้บริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
ในที่ประชุม พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง สมาชิกสภา กทม.ได้เสนอญัตติ เรื่อง ขอให้ กทม.รายงานความคืบหน้าการบริหารจัดการและแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตามที่คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้ กทม.รับผิดชอบเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
ทั้งนี้ เมื่อ กทมปรับมอบโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงดังกล่าวแล้ว กทม.จะรับภาระหนี้สิน ทรัพย์สิน สิทธิหน้าที่ และภาระผูกพันอื่นๆ ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยใช้ในการดำเนินโครงการไปพร้อมกัน โดยการประชุมของคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินงานเพื่อดำเนินการ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือมอบหมายให้ กทม.เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง มีข้อเสนอให้ กทม.กู้เงินต่อจากกระทรวงการคลัง แทนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เป็นค่างานก่อสร้างโครงสร้างงานโยธา รวมทั้งต้องทำสัญญาชดใช้เงินต่อกระทรวงการคลังในส่วนค่าจัดกรรมสิทธิ์ และดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเงินกู้ของค่างานโครงสร้างพื้นฐานที่สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา สภา กทม.ได้เห็นชอบข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ. 2561 โดย กทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) บริหารจัดการเดินรถในส่วนที่รับโอนจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ได้จ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ดำเนินการ โดยได้เปิดให้บริการเดินรถเต็มระบบ ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.2563
แต่จากปัญหาการกำหนดอัตราค่าโดยสารและการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ปัจจุบันจึงไม่สามารถจัดเก็บค่าโดยสารได้ โดย กทม.ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจ้างเดินรถเดือนละ 600 ล้านบาท โดยไม่มีรายรับ ส่งผลให้ กทม.มีภาระหนี้สินจำนวนมาก ทั้งจากการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้และการจ้างเดินรถ ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณโดยรวมของ กทม.
ดังนั้น เพื่อให้สภา กทม.ได้รับทราบข้อมูลการบริหารจัดการในเรื่องดังกล่าว จึงขอให้ กทม.รายงานความคืบหน้าการบริหารจัดการและแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ
จากนั้น สมาชิกสภา กทม.ได้ร่วมอภิปรายในญัตติดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยนายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนา สมาชิกสภา กทม. กล่าวว่า ขณะนี้บีทีเอส ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่ กทม.ค้างค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต และช่วงแบริ่ง–เคหะสมุทรปราการ เป็นจำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท โดย กทม.เป็นจำเลยที่ 1 และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เป็นจำเลยที่ 2 เพื่อร่วมกันชดใช้หนี้ ซึ่งมูลหนี้ดังกล่าวยังไม่รวมค่าก่อสร้างอีก 20,000 ล้านบาท ทำให้มีมูลนี้รวมทั้งสิ้น 32,000 ล้านบาท
"ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาสะสม ควรแก้ปัญหาโดยประกาศจัดเก็บอัตราค่าโดยสารชั่วคราว ระหว่างที่รอให้การต่อสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อป้องกันไม่ให้ภาระหนี้มากกว่านี้ รวมถึงรักษาผลประโยชน์หน่วยงานของรัฐไม่เกิดความเสียหายไปมากกว่านี้"นายชยาวุธ ระบุ
ด้านนายธวัชชัย ฟักอังกูร สมาชิกสภา กทม. กล่าวว่า ขอให้ กทม. ตรวจสอบสถานภาพทางการเงินการคลังตัวเอง รวมทั้งรายละเอียดค่าใช้จ่ายทั้งที่ผ่านมา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ กทม.ต้องมีภาระในอนาคต เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการขอสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุผลความจำเป็นของ กทม.ที่ต้องได้รับการสรับสนุนงบประมาณ
ขณะที่นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า การพิจารณาแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสาร ภายหลังที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายได้เปิดให้บริการช่วงสถานีแบริ่ง-สถานีสำโรง เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2560 และเปิดให้บริการถึงสถานีเคหะสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2561 กทม.ได้เสนอการเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15-21 บาท แต่เนื่องจากมีการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน จึงทำให้อยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม ส่วสโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ได้ทดลองเปิดให้บริการต่อเป็นช่วงๆ และเปิดให้บริการเต็มระบบจนถึงสถานีคูคตเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 และได้เล็งเห็นว่าการดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) กทม.จึงได้พิจารณาโครงสร้างค่าโดยสาร และออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อดำเนินการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในอัตราไม่เกิน 104 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.2564
นายสกลธี กล่าวอีกว่า หลังจาก กทม.ได้ออกประกาศดังกล่าวแล้ว ปรากฎว่าได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าโดยสารตามประกาศฯ ต่อมาผู้ว่าฯ กทม.ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยให้เลื่อนการจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปก่อน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเก็บค่าโดยสาร ระหว่างที่รอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ
"จากนั้นสำนักการจราจรและขนส่ง ได้มีหนังสือประสานบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริเวณสถานีในส่วนต่อขยายที่ 2 พร้อมให้ศึกษาโครงสร้างค่าโดยสารที่เหมาะสมในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ซึ่งปัจจุบันจึงอยู่ระหว่างที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ศึกษาแนวทางและนำเสนอต่อสำนักการจราจรและขนส่งเพื่อพิจารณาต่อไป"นายสกลธี กล่าว