ลุ้นรัฐฟื้นโครงการ ‘ช้อปดีมีคืน’ เดือนธ.ค.ปลุกกำลังซื้อโค้งสุดท้ายของปี
ลุ้นรัฐบาลคลอด "ช้อปดีมีคืน" เดือนธ.ค.กระตุ้นกำลังซื้อโค้งสุดท้ายของปีช่วงทำโปรโมชั่น ชงคลังตัดสินใจ หอการค้าหนุนเพิ่มกำลังซื้อกลุ่มรายได้สูง นักวิชาการชี้ช่วยรัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 1.4 หมื่นล้านบาท ช่วยสร้างการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจต่อเนื่อง
มาตรการ “ช้อปดีมีคืน” กำลังถูกพิจารณาเพื่อนำมาใช้ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย เพื่อเพิ่มแรงกระตุ้นการบริโภคในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 เพิ่มจากมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้คือ มาตรการคนละครึ่งเฟส 3 และมาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเกี่ยวกับแผนการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2565 โดยประเด็นหนึ่งที่ได้มีการหารือกันคือ การกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มคนที่มีรายได้สูงเพื่อให้คนกลุ่มนี้ออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2564
ทั้งนี้ การหารือดังกล่าวได้มีการพิจารณามาตรการที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการบริโภคที่ออกมาก่อนหน้านี้ควบคู่กับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ได้เสนอให้กับรัฐบาลผ่านคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย
โดยภาคเอกชนต้องการให้มีการนำ “มาตรการช้อปดีมีคืน” ซึ่งให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอย และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งภาคเอกชนมองว่าจะเป็นมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มคนที่มีรายได้สูงได้ดีกว่ามาตรการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่รัฐบาลออกมาก่อนหน้านี้
“ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ เป็นเรื่องที่อยู่ในไปป์ไลน์ว่าจะออกมาได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของการขอคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าจะเป็นปีภาษีใด ถ้าเป็นปีภาษีนี้จะกระทบกับรายได้-รายจ่ายของรัฐบาลหรือไม่ หรือควรจะให้ใช้สิทธิคืนภาษีในปีภาษีต่อไป หรือว่าจะมีรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมหรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา” แหล่งข่าว ระบุ
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนได้มีการเสนอ “มาตรการช้อปดีมีคืน” ให้กับรัฐบาลมาเป็นระยะเวลานานหลายเดือนตั้งแต่ กกร.เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากเล็งเห็นว่ามาตรการนี้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย และได้รับการตอบรับดีทุกครั้งที่รัฐบาลนำมาใช้
สำหรับในปีนี้ภาคเอกชนเองก็ยังมีความคาดหวังว่าในเดือน ธ.ค.2564 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีนี้ รัฐบาลจะผลักดันมาตรการนี้ออกมา ซึ่งตรงกับช่วงที่ภาคเอกชน ห้างร้านต่างๆ มีการทำโปรโมชั่นพอดี ทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าต่างๆได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถนำสิทธิไปลดภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้
ทั้งนี้ การประชุม กกร.เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2564 ได้ประเมินการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย.2564 โดยเห็นตรงกันว่าเป็นการช่วยหนุนเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชน ถึงความพร้อมของประเทศไทย ในการอยู่ร่วมกับโควิด-19 ซึ่งเริ่มเห็นได้จากข้อมูลเร็ว (High Frequency Data ) เช่น การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และการเดินทางในจังหวัดท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มดีขึ้น
รวมถึงคาดการณ์อัตราการเข้าพักที่ผู้ประกอบการโรงแรมมองว่าจะขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ในเดือนพ.ย.2564 เทียบกับ 15% ในเดือนก.ย.2564 ประกอบกับการจับจ่ายใช้สอยในภูมิภาคดีขึ้น
ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอให้ภาครัฐ เปิดประเทศแบบจัดเต็มด้วยการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วประเทศ ทั้งงานลอยกระทง และปีใหม่ นอกจากจะเป็นการสร้างเม็ดเงินทำให้จีดีพีของประเทศเติบโตได้ 1.5%
"แต่หากเปิดประเทศไทยแบบเปิดๆ ปิดๆ และการจัดกิจกรรมไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ จะไม่เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการเพราะบริหาร และคำนวณต้นทุนการทำธุรกิจได้ยาก นอกจากนี้ยังมองว่าการจัดกิจกรรมแบบเต็มรูปแบบยังเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม “นายสนั่น กล่าว
นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า หากรัฐบาลมีการออกมาตรการช้อปดีมีคืนที่ให้สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงเดือนธ.ค.2564 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกมาก
ทั้งนี้ หากมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย 2 ล้านคน รวมวงเงิน 2 แสนล้านบาท กำหนดวงเงินใช้จ่ายเพื่อขอหักลดหย่อนภาษีไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน โดยรัฐบาลจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% หรือคิดเป็น 14,000 ล้านบาท
ส่วนการคืนเงินภาษี ให้กับผู้ที่เข้าร่วมโครงการวงเงินรวม 26,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มคืนให้ผู้เสียภาษีช่วงกลางปี 2565 ซึ่งก่อนหน้านั้นรัฐบาลนำเงินภาษีที่เก็บได้ใช้ประโยชน์อื่นทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้จำนวนรอบมากที่สุด เพื่อให้เงินหมุนเวียนได้มากที่สุด
สำหรับมาตรการช้อปดีมีคืน เคยถูกนำมาใช้ระหว่างวันที่ 23 ต.ค.2563 - 31 ธ.ค.2563 โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 111,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.30% ในขณะที่รัฐเสียรายได้ 14,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 3.7 ล้านคน
ทั้งนี้ มีการกำหนดเงื่อนไขสำคัญคือ ผู้เข้าร่วมโครงการต้องไม่รับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง รวมทั้งยกเว้นค่าสินค้าหรือค่าบริการ ดังนี้ ค่าสุรา เบียร์ และไวน์ ,ค่ายาสูบ ,ค่าน้ำมันและก๊าซยานพาหนะ ,ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์และเรือ ,ค่าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร รวมถึงในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ,ค่าบริการจัดนำเที่ยว และค่าที่พักโรงแรม
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์