เปิดร่างสัญญา "แหลมฉบัง" หาฤกษ์เซ็นลงทุน กัลฟ์-ปตท.
ครม.เคาะสัญญาร่วมทุน กลุ่ม GPC ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 นำโดย กัลฟ์ - ปตท. ลงทุนแหลมฉบังเฟส 3 รอเรียกเอกชนลงนามสัญญา สัมปทานร่วมลงทุน 35 ปี เปิดเงื่อนไข 5 ข้อ แบ่งเก็บรายได้ผลประโยชน์การท่าเรือ - เอกขน
การพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เข้าสู่ขั้นตอนเตรียมลงนามสัญญาร่วมลงทุนหลังจากเปิดประมูลมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2562 และล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2564 ซึ่งจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานหลักของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีความคืบหน้ามากขึ้น
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดได้เห็นชอบแล้ว ตามมติของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2564
สำหรับกลุ่มเอกชนที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทพีทีทีแทงก์ จำกัด และบริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เข้าประมูลและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินเป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปร 100 บาท ต่อ TEU (ตู้สินค้าขนาด 20 ฟุต) ระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี
กพอ.รายงาน ครม.รับทราบว่าสำหรับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เป็นเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายเดียวที่ผ่านการประเมิน หากดำเนินการคัดเลือกใหม่อาจส่งผลให้การเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ F ล่าช้า 2 ปี และก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น การที่ปริมาณตู้สินค้าจะเกินขีดความสามารถในการรองรับในปี 2568 รวมถึงข้อจำกัดการรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งส่งผลต่อประมาณการตู้สินค้าในปัจจุบัน ซึ่ง กพอ.เห็นชอบตามเหตุผลและความจำเป็น
ทั้งนี้การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ในการเป็นประตูการค้า การลงทุนของภูมิภาคได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยให้มีการรองรับกิจการที่มีความต่อเนื่องที่จะช่วยเพิ่มมูลค่า (Nalue added Activities) การพัฒนาท่าเรือบก (Dy Port) โครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านด้วยระบบขนส่งที่หลากหลายและการบริหารจัดการขนส่งหลายรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและขยายพื้นที่หลังท่าของท่าเรือแหลมฉบังได้อย่างเต็มศักยภาพ
นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (สกพอ.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องกำกับให้เอกชนคู่สัญญาดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ 2 ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง
สำหรับรายละเอียดของร่างสัญญาร่วมลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) มีประเด็นสำคัญที่สรุปได้ ได้แก่
1.ขอบเขตของโครงการ โดยงานส่วนโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ F ที่รัฐบาลรับผิดชอบ เช่น งานขุดลอกและถมทะเล เพื่อรองรับงานก่อสร้างเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน งานขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ งานออกแบบและก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น งานออกแบบและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคที่ใช้ร่วมกัน ส่วนงานภาคเอกชน คือ งานโครงสร้างหน้าท่าของท่าเทียบเรือ รวมถึงระบบการจัดการตู้สินค้าแบบอัตโนมัติ
2.กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน โดยในส่วนของภาครัฐ การท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทั้งหมดภายใต้งานการพัฒนาท่าเรือในส่วนของการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงพื้นที่โครงการและอุปกรณ์ที่การท่าเรือฯจัดหามา โดยมอบสิทธิ์เข้าใช้งานและดำเนินกิจการประกอบการท่าเทียบเรือให้เอกชนคู่สัญญา
ส่วนเอกชนคู่สัญญาเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิในทรัพย์สินในโครงการสร้างหน้าท่าทั้งหมด เช่น อาคาร และสิ่งปลูกสร้างเหนือท่าเทียบเรือเหนือท่าเทียบเรือที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ในท่าเทียบเรือทั้งบนดินและใต้ดิน ซึ่งออกแบบและก่อสร้างโดยเอกชนคู่สัญญา หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องแต่ต้องโอนทรัพย์สินทั้งหมดให้ การท่าเรือฯเมื่อครบระยะเวลาโครงการ
3.การแบ่งผลประโยชน์ตอบแทน โดยในส่วนของภาครัฐ การท่าเรือมีสิทธิ์ได้รับผลประโยชน์ตอบแทน ดังนี้ ค่าสัมปทานคงที่ ค่าสัมปทานผันแปร ค่าภาระที่ กทท.จัดเก็บจากรายได้ที่เกี่ยวกับการให้บริการด้านการเดินเรือ ค่าสาธารณูปโภคส่วนที่ใช้ร่วมกัน และค่าสาธารณูปโภคส่วนที่ใช้ในโครงการ
ส่วนเอกชนคู่สัญญามีสิทธิเรียกเก็บค่าภาระที่เกี่ยวกับการให้บริการท่าเทียบเรือและสินค้าจากผู้ใช้ ท่าเรือ ได้แก่ ค่าใช้บริการท่าเทียบเรือ การบรรทุกขนถ่ายสินค้า การฝากเก็บสินค้า และบริการอื่นๆที่เอกชนคู่สัญญาให้บริการในโครงการฯ
4.หลักประกันในสัญญา เอกชนมีการวางหลักประกันการก่อสร้างในส่วนของงานพัฒนาท่าเทียบเรือในส่วนของเอกชน 1,500 ล้านบาท โดยการวางหลักประกันการดำเนินงานเพื่อให้มีการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนในส่วนการให้บริการและบำรุงรักษาท่าเทียบเรือในส่วนของเอกชนคู่สัญญา
5.ระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน เป็นระยะเวลา 35 ปี นับจากวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการ ตามที่การท่าเรือฯระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน โดยนับรวมระยะเวลาในการพัฒนาท่าเทียบเรือในส่วนของเอกชนคู่สัญญา การให้บริการและการบำรุงรักษาท่าเทียบเรือในส่วนของเอกชนคู่สัญญา และการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ของโครงการ
รายงานข่าวจาก กทท.เผยว่า หลัง ครม.รับทราบผลการคัดเลือกเอกชน ผลการเจรจาและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F การดำเนินงานหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนลงนามสัญญาร่วมทุนกับเอกชนได้ทันที ซึ่งเบื้องต้น สกพอ.จะเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการลงนามสัญญา
“เมื่อ ครม.อนุมัติร่างสัญญาแล้วก็ถือว่าขั้นตอนคัดเลือกเสร็จ หลังจากนี้เหลือลงนามสัญญา ซึ่ง สกพอ.เป็นผู้เตรียมการลงนามและคาดว่าจะลงนามได้ในอีกไม่นาน”
ทั้งนี้ กทท.ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการ วันนี้ (10 พ.ย.) เตรียมจัดการแถลงการดำเนินงานในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F และผลการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในรอบปีงบประมาณ 2564