กอนช. เตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนระลอกสอง 21-26 พ.ย. เร่งตรวจสอบคันกั้นน้ำ

กอนช. เตือนเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนระลอกสอง 21-26 พ.ย. เร่งตรวจสอบคันกั้นน้ำ

กอนช. คาด น้ำทะเลหนุนถึง 11 พ.ย. นี้ ก่อนกลับมาอีกระลอก 21-26 พ.ย. เร่งหระบายน้ำในถนนสายหลัก ตรวจสอบศักยภาพการรองรับน้ำของคันกั้นน้ำ และปรับปรุงซ่อมแซมคันกั้นน้ำในจุดที่ชำรุดให้กลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ป้องกันผลกระทบแก่พื้นที่ชุมชน

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า จากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบให้เกิดน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมในหลายพื้นที่ เนื่องจากอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออก ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของผิวน้ำทะเลและเกิดคลื่นกระทบฝั่งต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นในเขต จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.เพชรบุรี และ จ.ชุมพร ระดับน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 30 ซม. และฝั่งอ่าว ก.ไก่ ระดับน้ำสูงเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ซม. โดยคาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะยังคงหนุนสูงถึงวันที่ 11 พ.ย. 64 และจะหนุนสูงอีกครั้ง ช่วงวันที่ 21 – 26 พ.ย. 64 

กอนช. จึงได้มอบหมายกรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร และ จ.นครปฐม รวมทั้งจังหวัดที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้นลงของน้ำทะเล เร่งทำการระบายน้ำในถนนสายหลักและในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการสัญจรทางถนนอย่างเร่งด่วน และเตรียมพร้อมรับมือป้องกันภาวะน้ำทะเลหนุนสูงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงต่อไป ตามข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช. 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าระดับน้ำที่หนุนสูงในวันนี้ (10 พ.ย. 64) จะมีระดับต่ำกว่าเมื่อวานที่ผ่านมา (9 พ.ย. 64) ก่อนจะลดระดับลงตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 64 เป็นต้นไป โดยคาดว่าระดับน้ำจะหนุนสูง ในช่วงเวลา 10.00 – 12.00 น. และระดับจะค่อย ๆ ลดลง จนถึงเวลา 18.00 น. จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แต่จะมีระดับต่ำกว่าช่วงเช้า

“ด้วยสถานการณ์อุทกภัยที่เริ่มคลี่คลายลงแล้วในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีการขนย้ายนำกระสอบทรายกั้นน้ำออกหลายพื้นที่ ประกอบกับปัญหาคันกั้นน้ำที่ขาดในบางจุด หรือที่เรียกว่า จุดฟันหลอ ส่งผลทำให้น้ำเอ่อทะลักเข้าท่วมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น (แม้ว่าในบางพื้นที่ ระดับน้ำในลำน้ำจะยังคงต่ำกว่าตลิ่ง) ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบศักยภาพในการเตรียมป้องกันน้ำของคันกันน้ำ รวมทั้งสำรวจและดำเนินการแก้ไขซ่อมแซมคันกั้นน้ำในจุดที่ชำรุดให้กลับมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณเขตชุมชน รวมทั้งหลังจากนี้จะมีการวิเคราะห์ถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา เพื่อวางแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว
 

สำหรับในช่วงที่ผ่านมามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง อาทิ จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร รวมไปถึงกรุงเทพมหานคร เป็นต้น และยังคงต้องมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ได้ประกาศแจ้งเตือนจุดเฝ้าระวังในพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ได้แก่ เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน ให้ติดตามระดับน้ำอย่างใกล้ชิด โดยในระหว่างนี้ กอนช. จะยังคงติดตามข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้แบบจำลองในการคาดการณ์ทั้งอิทธิพลของลมและความกดอากาศ โดยจะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำต่อไป