ชวนรู้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คืออะไร มีหน้าที่ตรวจสอบ-วินิจฉัยอะไรบ้าง?

ชวนรู้ “ศาลรัฐธรรมนูญ” คืออะไร มีหน้าที่ตรวจสอบ-วินิจฉัยอะไรบ้าง?

เกิดเหตุ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ถูกแฮกระบบเมื่อเช้านี้ (11 พ.ย.) คาดว่าสาเหตุอาจมาจากกรณีที่ศาล รธน. มีคำวินิจฉัยให้ อานนท์ รุ้ง ไมค์ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ชวนคนไทยรู้จักบทบาทหน้าที่ของ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ให้มากขึ้น

เกิดกระแสฮือฮาขึ้นบนโลกโซเชียล! เมื่อเว็บไซต์ “ศาลรัฐธรรมนูญ” โดนแฮกเมื่อเช้าวันนี้ (11 พ.ย.) โดยสาเหตุคาดว่าอาจเป็นการตอบโต้ของคนบางกลุ่ม ที่ไม่พอใจกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่า การปราศรัยของอานนท์-รุ้ง-ไมค์นั้น ไม่ใช่การปฏิรูป แต่มีเจตนาเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ล่าสุด.. เว็บไซต์สำนักงาน "ศาลรัฐธรรมนูญ" ถูกแฮกระบบจนไม่สามารถเข้าใช้งานได้ เหตุการณ์นี้ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์บนโลกโซเชียลอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาครัฐจะมีการแก้ไขระบบเว็บไซต์ดังกล่าวได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป

แต่ใครที่สนใจเรื่องนี้ กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมารู้ลึกเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญให้มากขึ้นว่า องค์กรนี้มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

1. "ศาลรัฐธรรมนูญ" จัดตั้งขึ้นเมื่อใด?

ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตุลาการ จัดตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญอาณาจักรไทย ปีพ.ศ. 2540 เพื่อแทนคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยุบไป โดยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550

ทั้งนี้ มีอำนาจในการวินิจฉัยข้อปัญหาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาอรรถคดีทั่วไป

2. ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยใครบ้าง?

ทั้งนี้องค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจกัรไทย พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้ประกอบไปด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 15 คน

โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 มาตรา 12 วรรคแปด เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

โดยมีคำแนะนำจาก "วุฒิสภา" ซึ่งมาจากบุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้พิพากษา ถูกรับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา โดยการลงคะแนนลับ ทั้งหมด 5 คน
  • ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด มีการรับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ด้วยวิธีการลงคะแนนลับ ทั้งหมด 2 คน
  • ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขานิติศาสตร์ ซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา จากการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 5 คน
  • ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภา จากการสรรหาและจัดทำบัญชีรายชื่อของคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 3 คน

 

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีก 8 คน ซึ่งมีการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ โดยคำแนะนำของวุฒิสภาจากบุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้พิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา โดยได้รับเลือกในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ด้วยวิธีลงคะแนนลับ ทั้งหมด 3 คน
  • ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จากวิธีลงคะแนนลับ ทั้งหมด 2 คน
  • ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขานิติศาสตร์ ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อย่างแท้จริง และได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนุญ ทั้งหมด 2 คน
  • ผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์ หรือสาขาสังคมศาสตร์อื่นๆ โดยมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง และได้รับเลือกตามมาตรา 206 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 2 คน

3. ศาลรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่รับผิดชอบอะไรบ้าง?

หากพูดถึงหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  • พิจารณาวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี 
  • พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อข้อกฎหมายต่างๆ แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตรวจสอบว่ากฎหมายนั้นมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
  • พิจารณาว่า บทบัญญัติกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับคดีต่างๆ นั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้ง และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัตินั้น
  • วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาด และมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

ปล. ทั้งนี้การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นระบบไต่สวน ซึ่งศาลมีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ โดยจะต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม

4. ปัจจุบัน ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งอยู่ที่ใด?

สำหรับที่ตั้งของสำนักงานรัฐธรรมนูญในครั้งอดีตนั้น เคยตั้งอยู่ที่อาคารบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ เลขที่ 326 ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

แต่ในปัจจุบันพบว่าได้ย้ายมาอยู่ที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร (ใกล้กับกองบัญชาการกองทัพไทย)

-----------------------------

อ้างอิง: Wikipidia, สถาบันพระปกเกล้า