ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ขีดเส้น 1 ธ.ค.64 คุมโควิดให้ได้ 

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ขีดเส้น 1 ธ.ค.64 คุมโควิดให้ได้ 

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ตั้งเป้าคุมโควิด-19 หวังตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงภายใน 1 ธ.ค.นี้ เร่งปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อนำเข้าระบบรักษา และเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทุกคนให้ตัวเลขลดเหลือ200 รายต่อวัน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์โควิด-19 โดยมีนายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 1 นายรัฐพล นราดิศร, นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และนายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมแถลงข่าว 

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ขีดเส้น 1 ธ.ค.64 คุมโควิดให้ได้ 

นายประจญ กล่าวว่า ได้หารือกับทางนายอำเภอ สาธารณสุขประจำอำเภอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน ทั้ง 25 อำเภอ เพื่อกำหนดแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน  เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มเฉลี่ยใน 3 วัน พบผู้ป่วยติดเชื้อประมาณ 1,000 คน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก และมีีจำนวนผู้ที่รักษาหายและสามารถกลับบ้านได้ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน 

 

 

               

               

                จากสถานการณ์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยจำนวนมากจากคลัสเตอร์ตลาดใหม่เมืองใหม่ และมีการกระจายเชื้อไปยังอำเภอต่างๆ ทำให้มีการล้อมกรอบด้วยการตั้งศูนย์พักคอย (CI) ในพื้นที่อำเภอต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการเพื่อจำกัดเชื้อให้อยู่ในพื้นที่ หลังจากนั้นเริ่มมีการตรวจเชิงรุกเข้าค้นห้าผู้ป่วยในชุมชนโดยเฉพาะในพื้นที่เขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้นี้ยังคงดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ชุดตรวจ ATK เพื่อคัดแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนโดยเร็ว

                นอกจากนี้ รัฐบาลได้มอบวัคซีนเข้ามาในพื้นให้ครบตามจำนวนประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เนื่องจากจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองสำคัญและเป็นเมืองนำร่องเปิดเมืองเพื่อรับนักท่องเที่ยวอย่างน้อยใน 4 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาท่องเที่ยวได้ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ได้มีมติให้ทั้ง25 อำเภอสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวไทยได้

                ดังนั้น ทาง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้เร่งวางแผนแก้ไขปัญหาเพื่อล้อมกรอบควบคุมการแพร่ระบาดให้ได้ภายใน 1 ธันวาคม 2564  โดยมติล่าสุดจากการประชุมของคณะกรรมการโรคติดต่อฯ พบว่าการติดเชื้ออยู่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ จึงวางมาตรเชิงรุกส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน รวมทั้งนำแรงงานต่างด้าว ทั้งในระบบและนอกระบบเข้ารักการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

                ด้าน นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำเขตตรวจสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า สถานการณ์ของเชียงใหม่ขณะนี้ไม่ต่างกับกรุงเทพในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจนเต็มศักยภาพการรักษาของโรงพยาบาล โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ใช้โมเดลของกรุงเทพฯ มาปรับใช้จึงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้และไม่มีปัญหาเรื่องเตียงไม่เพียงพอในการรักษา ซึ่งจาก

จากที่เข้ามาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มาประมาณ 2 สัปดาห์ พบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มนิ่ง ทิศทางการแพร่ระบาดเริ่มมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

             นับจากนี้ แนวทางของสาธารณสุขและฝ่ายปกครองได้วางแผนร่วมกัน คือเรื่องการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนให้ครอบคลุมร้อยละ 100 เดิมจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรอยู่ประมาณ 1.7 ล้านคน ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 1 ล้านคน โดยจะเร่งทำการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมทั้งหมดภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทุกคน ได้รับวัคซีนเข็ม2 ในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งเชียงใหม่จะมีความพร้อมเปิดเมืองได้

             นอกจากนั้นยังต้องเร่งค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK และการจัดการรักษาแบบ HI และ CI โดยเน้นดำเนินการในพื้นที่อ.เมือง อ.สันทราย โดยเฉพาะในพื้นที่ตลาดเมืองใหม่ซึ่งอยู่ในเขตอ.เมือง เป็น 3 จุด ที่ต้องทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลงภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังจากนี้ โดยทางสาธารณสุข ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ และ ฝ่ายปกครอง จัดทีมหน่วยเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ทุกจุดในระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ โดยเข้าตรวจคัดกรองด้วยชุด ATK

             ขณะที่นายแพทย์ จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากสถานการณ์การควบคุมโรคพบว่ามีการระบาดเป็นวงกว้าง เริ่มจากคลัสเตอร์ตลาดเมืองใหม่ และพบการการติดเชื้อในกลุ่มต่างด้าวเป็นวงกว้าง จากการคำนวณทางระบาดวิทยา พบว่าหากยังไม่ดำเนินการมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดการแพร่ระบาดจะเพิ่มขึ้นไปถึง 900 คน แต่หลังจากที่ดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของเข้มงวดทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับ 300 รายต่อวัน ซึ่งปริมาณเช่นนี้ถือว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจ ต้องดำเนินการให้ตัวเลขลดลงเหลือในระดับ 200 รายต่อวัน หลังจากนั้นจะเริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งต้องใช้เวลาในการทำงาน ซึ่งต้องเพิ่มมาตรการเชิงรุกปูพรมต้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษา ซึ่งส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 ไม่แสดงอาการ

             แนวทางการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยติดเชื้อจะเริ่มทำการดูแลรักษาที่บ้านโดยเริ่มดำเนินการมาประมาณ 1 สัปดาห์ มีผู้ป่วยสะสมรักษาตัวที่บ้าน 1,560 ราย ซึ่งถือว่าเป็นช่องทางที่สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย ส่วนที่ศูนย์พักคอยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ทั้ง 25 อำเภอมีทั้งสิ้นประมาณ 5,000 เตียง เหลือรับผู้ป่วยได้อีกประมาณ 2,000 เตียง ในพื้นที่อำเภอเมืองมีศูนย์พักคอยที่เป็น hospitel ประมาณ 2,500 เตียง มีเตียงว่างประมาณ1,000 เตียง ซึ่งศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยยังมีกำลังพร้อมที่จะรับได้

               ส่วนผู้ป่วยสีเหลืองที่ต้องได้รับการดูแลในโรงพยาบาล มีอยู่ประมาณ 872 ราย ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี ที่เริ่มปรับตัวลดลงจากเดิมที่เคยพบผู้ป่วยสีเหลืองมากถึง 900 ราย แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีเตียงรอบรับผู้ป่วยสีเหลืองประมาณ1,000 เตียง ส่วนผู้ป่วยสีแดง ยังมีเตียงเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้ โดยมีโรงพยาบาลในเครือข่ายศูนย์สุขภาพที่ 1 ที่สามารถรับการส่งต่อผู้ป่วยสีแดงได้

              ด้านนายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ด้านการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งมีพื้นที่นำร่อง 4 อำเภอ คือ เมืองเชียงใหม่ แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า ช่วงที่มีการเปิดเมือง ชาร์มมิ่ง เชียงใหม่ จังหวัดได้วางมาตรการด้านสาธารณสุข และแผนรองรับหากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ทั้งการจัดทำมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่ ศบค.กำหนด โดยนำแผนของแซนบ็อกมาใช้ รวมทั้งแผนเผชิญเหตุ จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และจัดทำแผนพัฒนาเมืองท่องเที่ยว วางมาตรการในการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวต่างๆ

               ขณะนี้มีมาตรฐานที่ทาง ททท. และ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา กำหนด ซึ่งสถานที่ต้องมีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวต้องมีมาตรฐาน SHA หรือ SHA PLUS จะเป็นสถานที่ที่ที่ได้รับการรับรอง เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่มีสถานประกอบการที่ได้ SHA 1,434 แห่ง, SHA PLUS 453 แห่ง และ โควิดฟรีเซ็ตติ้ง 238 แห่ง โรงพยาบาลที่เป็นคู่สัญญากับโรงแรม 15 แห่ง

              รายงานข่าวแจ้งว่า   สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ได้รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ประจำวันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวน 339 ราย มีผู้เสียชีวิตมี 5 ราย รวมผู้เสียชีวิตสะสม 96 ราย ส่งผลให้ต้องมีการเพิ่มจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยไอซียู สีส้ม -แดง ที่โรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ อีก 50 เตียง