“ปิยบุตร” โพสต์ 5 ข้อหักล้าง ส.ว.รื้อ “ระบอบประยุทธ์” สวน รธน.60 รวมศูนย์อำนาจ
“ปิยบุตร” โพสต์ย้ำ 5 ข้อหักล้าง ส.ว. ขอผ่าน “ร่าง รธน.” ภาคประชาชนรื้อ “ระบอบประยุทธ์” แก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง บั่นทอนประชาธิปไตย ย้อน “คำนูณ” รธน.60 หนึ่งรวมศูนย์ สองบั่นทอน สี่ควบคุมเหมือนกัน
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุว่า 5 ข้อหักล้าง ส.ว. ร่าง #รื้อระบอบประยุทธ์ แก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ควบคุมกลไกต่าง ๆ จนไม่สะท้อนเจตจำนงประชาชน
นายปิยบุตร ระบุถึงการเข้าชี้แจงในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในฐานะตัวแทนผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจากประชาชน ข้อสงสัยของ ส.ว. รวม 5 ประเด็น ได้แก่
1) ร่างแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่การเขียนแบบปฏิวัติตามที่ ส.ว. คำนูญ สิทธิสมาน ตั้งข้อสังเกตไว้ เพราะรัฐธรรมนูญแบบปฏิวัติหมายถึงต้องลบไปทั้งฉบับแล้วเขียนแบบที่ไม่มีเค้าร่างเดิมอยู่เลย แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขฉบับนี้เป็นการปฏิรูป เราไม่ได้ลบทิ้งทั้งฉบับ แต่เราเข้าไปแก้ไขประเด็นที่มีปัญหาสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญ 60 โดยร่างของเรายังใช้เค้าเดิมทั้งหมด ประเทศไทยยังปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2) ข้อสังเกตว่าข้อเสนอตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาที่เป็นการบั่นทอนความเป็นอิสระของศาลนั้น การที่เราเขียนไว้ว่าห้ามศาลรับรองการรัฐประหาร เพื่อที่ให้ศาลมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไปใช้อ้าง ไปใช้ในการวินิจฉัยคดี แม้ว่าต่อไปหากมีการทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารเขียนนิรโทษกรรมตัวเองไว้แล้วก็ตาม เพราะที่ผ่านมาผู้พิพากษาหลายๆ คนก็อยากจะวินิจัยแตกต่างออกไป ไม่รับรองการรัฐประหาร แต่ไม่มีตัวบทกฎหมายใดให้อ้างอิง ดังนั้นถ้าเขียนไปในรัฐธรรมนูญแบบนี้ ต่อไปผู้พิพากษา ตุลาการก็จะสามารถนำมาใช้และไม่ยอมรับการรัฐประหารได้ ตรงนี้ไม่ใช่การละเมิดความเป็นอิสระของศาลเลย ตรงกันข้ามทำให้ศาลเป็นองค์กรที่สูงเด่นขึ้น เป็นองค์กรที่ปกป้องประชาธิปไตยและร่วมกันต่อต้านการรัฐประหาร
3) ห้ามศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น สืบเนื่องจากที่ 2 อำนาจเผชิญหน้ากัน โดยศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากไม่มีรัฐธรรมนูญก็ย่อมไม่มีศาลรัฐธรรมนูญและที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจทั้งหมดก็ใช้อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งอำนาจหนึ่งคืออำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญมี 2 ระดับ 1.อำนาจทำใหม่ทั้งฉบับ 2.อำนาจเข้าไปแก้ไข ดังนั้นแล้วอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญย่อมใหญ่กว่าอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ มีการไปเขียนในรัฐธรรมนูญปี 60 เปิดโอกาสให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่สมัยรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 ไม่เคยเขียน แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ใช้ช่องเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่าล้มล้างการปกครองเข้าไปตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน ตรงนี้จึงไปกระทบกับการถ่วงดุลอำนาจระหว่าง 2 อำนาจคืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญกับอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ยิ่งทำให้เห็นปัญหานี้ชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากสมาชิกรัฐสภาไปร้องขอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปนี้ประเทศไทยไม่ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญอีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ข้อเสนอของเราจึงเข้าไปจัดการสมดุลต่างหาก
4) กระทบความเป็นอิสระของศาลและองค์อิสระนั้น ประเด็นนี้ข้อเสนอของเราคิดมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เสนอเนื่องจากว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 ถูกเอาออกไป กลไกต่างๆ ไม่ได้ต่างกันเลย ต่างกันเพียงว่าคนที่จะถอดถอนเปลี่ยนจาก ส.ว. มาเป็น ส.ส. ที่ให้เป็น ส.ส. เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญของเราจะไม่มี ส.ว.อีกและ ส.ส.มาจากการเลือกตั้งจากประชาชน รวมทั้งการกระทำที่เป็นการถอดถอนไม่ใช่เป็นอำนาจตุลาการ และการถอดถอนประเทศไทยไปยืมแนวคิดการถอดถอนจากต่างประเทศ ในภาษาอังกฤษเรียกว่า impeachment เวลาพิจารณาเป็นการเอาองค์กรทางการเมืองหรือองค์กรตุลาการบางส่วนเข้ามาผสมกันแล้วถอดถอนคนออกจากตำแหน่ง ส่วนจะโดนคดีอาญาหรือไม่นั้นเป็นการไปพิจารณากันอีกในกลไกศาลปกติ นี่จึงไม่ใช่การเข้าไปทบทวนใหม่ของคำพิพากษา
5) ข้อเสนอจะทำให้เกิดการควบคุมงบประมาณ ควบคุมคน ควบคุมคำพิพากษานั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญ 50 และ 60 ไปเขียนว่า ศาลของบประมาณ แปรญัติได้ และเป็นหน้าที่ของสภาที่ต้องจัดสรรให้พอเพียงเพื่อประกันความเป็นกลางและความเป็นอิสระ เขียนแบบรัฐธรรมนูญ 50 และ 60 เป็นการให้ศาลมาแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร เพราะเรื่องการบริหารงบประมาณเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร และเรื่องการพิจารณางบประมาณเป็นเรื่องของสภา ไม่ใช่เรื่องของศาลเลย และยังเป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมระหว่างหน่วยงาน หน่วยรับงบประมาณอื่นไม่ได้มีอภิสิทธิ์แบบศาลและองค์กรอิสระที่ไม่ถูกตัดและได้รับข้อยกเว้น และข้อเสนอของเรายังทำให้เกิดหลักถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีเสียงข้างมากฝั่งไหนยึดศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระได้อีกต่อไป แต่มาจากการแบ่งสรรปันส่วนที่ยุติธรรมที่สุด นั่นคือมาจากรัฐบาล 3 คน ฝ่ายค้าน 3 คน และผู้พิพากษาตุลาการอีก 3 คน อาจคลางแคลงใจว่ามันคือ 6 ต่อ 3 แบบนี้ทำไมให้ผู้พิพากษาน้อยกว่า ส.ส. คำตอบคือ เวลาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีท่านกำลังสู้กับอำนาจนิติบัญญัติว่าสภาตรากฎหมายมาแล้วไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ท่านกำลังเข้าไปลบ พ.ร.บ.ที่ออกมาใช่ไหม ท่านจึงต้องหาความชอบธรรมที่พอฟัดพอเหวี่ยงกัน นี่เป็นหลักการสากล ดังนั้นลองไปสำรวจศาลรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ทั่วโลกว่ามีที่ไหนบ้างที่ไม่ให้ ส.ส.มีอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทุกที่มีหมด คือให้ ส.ส.แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้จะทำให้เกิดดุลยภาพ ไม่มีใครยึดศาลและองค์กรอิสระได้ และยังเชื่อมโยงกับสภาผู้แทนราษฎรด้วย
นายปิยบุตร ระบุอีกว่า หลายคนทำราวกับว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านจะไม่มีระบบตรวจสอบนักการเมือง กลับเห็นในทางตรงกันข้ามเลย เนื่องจากรัฐธรรมนูญไทยเป็นรัฐธรรมนูญที่ตรวจสอบนักการเมืองอันดับต้น ๆ ของโลก เป็นรัฐธรรมนูญล้อมคอกนักการเมืองจนแทบกระดิกไม่ได้ ถ้าร่างฯ นี้ผ่านจริง กกต.ก็ยังจัดการเลือกตั้ง มีอำนาจออกใบเหลือง ใบแดงเช่นเดิม ปปช. ยังมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน ความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นเดิม ศาลรัฐธรรมนูญยังมีอำนาจเช่นเดิม ที่ถามกันว่าถ้าผ่านแล้วใครจะตรวจสอบ ส.ส.นั้น ที่จริงแล้ว ส.ส.โดนตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ 2560 อยู่แล้ว ไม่ได้ยกเลิกการตรวจสอบเพียงแต่สร้างระบบดุลยอำนาจให้มาเกาะเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น มิฉะนั้น เราจะกลับไปประเด็นปัญหาที่ตั้งไว้แต่แรกว่า เราให้องค์กรเหล่านี้มาตรวจสอบ แล้วใครจะเป็นคนตรวจสอบคนที่ตรวจสอบอีกที จะรู้ได้อย่างไรว่าเขาจะใช้อำนาจโดยชอบเสมอได้
นายปิยบุตร ระบุด้วยว่า สุดท้ายที่ ส.ว. นายคำนูญ สิทธิสมาน กล่าวหาว่า ข้อเสนอของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี หนึ่งรวมศูนย์ สองบั่นทอน และสี่ควบคุม เห็นว่าตัวรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น หนึ่งรวมศูนย์สองบั่นทอน และสี่ควบคุมเช่นเดียวกัน หนึ่ง รวมศูนย์อำนาจให้กับองค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อำนาจที่สืบทอดมาจากคณะรัฐประหาร สองบั่นทอน บั่นทอนอำนาจสภาผู้แทนราษฎรและบั่นทอนประชาธิปไตย สี่ควบคุม ควบคุม ส.ส.จนกระดิกทำอะไรไม่ได้เลย ควบคุมประชาชน การตัดสินอะไรใดๆ ทำไม่ได้เลย เลือกตั้งมายังไงเสียงของประชาชนก็จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ มี ส.ว. 250 มาเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ควบคุมการตั้งรัฐบาล พอมี ส.ว.พรรคที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้ และควบคุมประเทศผ่านแผนยุทธศาสตร์แผนปฎิรูปประเทศ
“ขอปฏิเสธว่าร่างฉบับนี้ไม่ได้เป็นตามข้อกล่าวหา แต่ตรงกันข้าม เรากำลังเข้าไปแก้ปัญหาอำนาจรวมศูนย์ขององค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เข้าไปแก้ปัญหาการบั่นทอนประชาธิปไตย เข้าไปแก้ปัญหาการควบคุมกลไกต่าง ๆ จนไม่สะท้อนเจตจำนงประชาชน” นายปิยบุตร ระบุ