ส่อง เงินกู้ฯเยียวยาโควิด อนุมัติแล้ว 9.1 แสนล้าน รัฐ ปรับแผนเน้นฟื้นฟู
ส่องวงเงินกู้ฯเยียวยาโควิดอนุมัติแล้วกว่า 9.1 แสนล้าน จากเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ครอบคลุมประชาชนกว่า 40 ล้านคน รัฐบาลเตรียมปรับทิศทางใช้เงินกู้เน้นเรื่องฟื้นฟูเศรษฐกิจ - รับมือการแพร่ระบาดรอบใหม่ สศช.พร้อมพิจารณาวงเงินกู้ที่เหลือตามสถานการณ์ที่เหมาะสม
การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้างถือเป็นวิกฤติครั้งหนึ่งของประเทศ รัฐบาลได้มีการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับกับวิกฤติที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นวงเงินประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.ฯกู้เงินเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท
โดยแผนการใช้เงินของการกู้เงินทั้งสองครั้งแบ่งเป็น 3 แผนงาน ได้แก่
1 แผนการกู้เงินที่ใช้เพื่อสาธารณสุข
2 แผนการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
3 แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายระลอก การใช้เงินกู้ส่วนใหญ่ถูกใช้ไปใน “การเยียวยา” ประชาชน และกลุ่มอาชีพต่างๆที่ได้รับผลกระทบ
ก่อนหน้านี้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานระบุว่ามาตรการต่างๆที่ออกมาเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ครอบคลุมประชาชนไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน
“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมวงเงินที่ใช้ในการเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเป็นวงเงินกว่า 917,893 ล้านบาท ได้แก่
1.มาตรการเราไม่ทิ้งกัน วงเงิน 240,000 ล้านบาท โดย ครม.อนุมัติ เม.ย.2563
2.มาตรการเยียวยาเกษตรกร วงเงิน 150,000 ล้านบาท ครม.อนุมัติ เม.ย.2563
3.มาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง วงเงิน 39,429 ล้านบาท ครม. อนุมัติ พ.ค.2563
4.มาตรการคนละครึ่ง วงเงิน 94,500 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติ 3 ระยะได้แก่
1)เฟส 1 วงเงิน 30,000 ล้านบาท อนุมัติ ต.ค.2563
2)เฟส 2 วงเงิน 22,500 ล้านบาท อนุมัติ ธ.ค.2563
3)เฟส 3 วงเงิน 42,000 ล้านบาท อนุมัติ ต.ค.2564
5.มาตรการเพิ่มกำลังซื้อบัตรสวัสดิการรัฐ 58,122 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติ 3 ครั้งได้แก่
ครั้งที่ 1) 29,000 ล้านบาท อนุมัติ ต.ค.2563
ครั้งที่ 2) 21,000 ล้านบาทอนุมัติ ธ.ค.2563
ครั้งที่ 3) 8,122 ล้านบาท อนุมัติ ต.ค.2564
6.มาตรการเรารักกัน ม.33 55,600 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติ 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1) 37,100 ล้านบาท อนุมัติ ก.พ.2564
ครั้งที่ 2) 18,500 ล้านบาท อนุมัติ พ.ค.2564
7.มาตรการเราชนะ 280,242 ล้านบาท มีการอนุมัติไปแล้ว 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1) 213,242 ล้านบาทอนุมัติ เม.ย.2564
ครั้งที่ 2) 67,000 ล้านบาท อนุมัติ 5 พ.ค.2564
อย่างไรก็ตามทิศทางของการใช้เงินกู้ฯที่เหลืออยู่ประมาณ 2.26 แสนล้านบาท จะเน้นไปในเรื่องการฟื้นฟูและเตรียมพร้อมด้านสาธารณสุข และลดการเยียวยาลง
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช. ) ระบุว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีมากขึ้นความจำเป็นในการใช้มาตรการเยียวยาก็มีน้อยลง
โดยแนวทางหลังจากนี้จะเป็นการพิจารณาอนุมัติการใช้เงินตามสถานการณ์ โดยในส่วนของวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีกรอบวงเงิน 1.7 แสนล้านบาทตามแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ยังคงในวงเงินส่วนนี้ไว้เพื่อใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ขณะที่เงินสำหรับการเยียวยาจะมีความจำเป็นลดน้อยลงตามสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายขึ้น และการเยียวยาที่ได้มีการใช้เม็ดเงินไปก่อนหน้านี้แล้วในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมีการล็อกดาวน์
ทั้งนี้ในส่วนของวงเงินตามแผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ในเรื่องวงเงินสาธารณสุข และการเยียวยาสามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาใช้ในแผนงาน/โครงการอื่นๆได้ตามความเหมาะสม ซึ่งในอนาคตหากแผนงานสาธารณสุขมีความต้องการที่จะต้องใช้เงินเพื่อซื้อยารักษาโควิด-19 เพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้รักษาผู้ติดเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงและผู้สูงอายุก็จะสามารถจัดสรรเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งต้องประเมินสถานการณ์และความเหมาะสมเป็นระยะๆ