กขค. แนะผู้ประกอบการศึกษาไกด์ไลน์เครดิตเทอม
กขค. เผย ไกด์ไลน์เครดิตเทอม มีผลบังคับใช้ 16 ธ.ค.นี้ ขอผู้ประกอบการธุรกิจเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามที่ไกด์ไลน์กำหนด ฝ่าฝืนโดนปรับ 10% ของรายได้
นายสันติชัย สารถวัลแพศย์ โฆษกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า ประกาศแนวทางการปฏิบัติทางการค้าที่เป็นธรรมเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าหรือเครดิตเทอม (Credit Term) ของ กขค.จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นไกด์ไลน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจทุกรายในภาคการผลิต การค้าและบริการ ซึ่งครอบคลุมผู้ซื้อทั้งผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่และผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า
โดยกรณีเป็นสินค้าหรือบริการทั่วไป กำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 45 วัน กรณีสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร กำหนดระยะเวลาไว้ไม่เกิน 30 วัน
ส่วนการเริ่มนับระยะเวลา จะพิจารณาเมื่อมีการส่งมอบสินค้าหรือบริการ ครบถ้วนถูกต้องตามจำนวน ประเภท คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าหรือบริการที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ โดยมีการตรวจรับเรียบร้อย และส่งมอบเอกสารครบถ้วน เช่น ใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่มีใบกำกับภาษีการลงนามถูกต้อง หรือใบส่งมอบสินค้า (D/O) ที่มีการลงนามรับสินค้าหรือบริการแล้ว อย่างใดอย่างหนึ่งตามการค้าปกติที่เคยปฏิบัติกันมา
นายสันติชัย กล่าวว่า ส่วนการชำระสินเชื่อการค้า (Credit Term) กำหนดให้ผู้ซื้อสินค้า หรือบริการ ต้องแสดงรายละเอียดและขั้นตอนการจ่ายเงินให้ชัดเจน โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการชำระเงิน เช่น ระบบการวางบิล รอบวันการวางบิล ระบบบัญชี เพื่อให้สามารถชำระสินเชื่อการค้าได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ ส่วนผู้ขายสินค้าหรือบริการที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ต้องแสดงหลักฐานจำนวนการจ้างงานหรือเอกสารแสดงรายได้ต่อปี เช่น งบการเงินที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การชำระหนี้ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร เอกสารที่ยื่นต่อสำนักงานประกันสังคม หรือ เอกสารอื่นใดที่หน่วยงานราชการยอมรับว่าเป็น SMEs หากไม่มีจริงๆ สามารถใช้เอกสารจ้างงานหรือรายได้ที่จัดทำขึ้นเองและรับรองความถูกต้องของเอกสารให้แก่คู่ค้าตามที่ตกลงกัน เป็นต้น อย่างไรก็ดีอาจมีการตกลงยกเว้นไม่ต้องแสดงเอกสารใดๆ ก็ได้ หากคู่ค้าเชื่อถือ และยอมรับหรือมีวิธีการตรวจสอบของตนอยู่แล้ว
นายสันติชัย กล่าวว่า กขค.จะเผยแพร่คำอธิบายไกด์ไลน์เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจชัดเจน และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรม ในกรณีเกี่ยวข้องกับการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) ได้แก่ การประวิงเวลาการจ่ายค่าสินค้าหรือบริการเกินกว่าระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าที่กำหนดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้าหรือเงื่อนไขอื่นภายใต้สัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร พฤติกรรมอื่นๆ อันเป็นการบังคับโดยผู้ประกอบธุรกิจรายใดซึ่งเป็นคู่ค้ากับ SMEs อย่างไม่เป็นธรรม
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดมีการกระทำผิดตามประกาศจะมีโทษปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 10% ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด หากพบผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.)
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์