พาณิชย์ เผยอาเซียนเตรียมหารือกำหนดกรอบเจรจาเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผย อาเซียน เปิดเจรจาเอฟทีเอกับแคนาดา อย่างเป็นทางการแล้ว ลั่น ไม่น่าห่วงสำหรับไทย เหตุระดับการพัฒนาของอาเซียนต่างกัน ยันมีอาเซียนอื่นช่วยเจรจาต่อรอง ลดแรงกดดันให้ไทยได้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ อาเซียนและแคนาดา ได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างกันอย่างเป็นทางการแล้ว โดยไทยจะใช้กรอบการเจรจา ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไปแล้ว เป็นแนวทางในการเจรจา เพื่อขยายโอกาสการค้า การลงทุน เพื่อประโยชน์ของทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ประโยชน์ในภาพรวมสูงสุดกับประเทศ โดยคำนึงถึงความพร้อมของระดับการพัฒนา และภูมิคุ้มกันของประเทศ รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือว่า กรอบการเจรจาของไทยสามารถดูแลผลประโยชน์ และสร้างสมดุลให้กับทุกภาคส่วนได้
ทั้งนี้ ในเร็วๆ นี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะเริ่มเปิดการเจรจากันแล้ว ซึ่งจะเริ่มต้นหารือกันเพื่อวางกรอบการเจรจาก่อน โดยนอกจากจะเป็นการเปิดการตลาดการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนแล้ว ยังจะต้องมีความร่วมมือด้านอื่นๆ ด้วย แต่ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะพบกัน อาเซียนจะหารือกันก่อนเพื่อกำหนดกรอบการเจรจาเป็นภาพรวมของอาเซียน
“การทำเอฟทีเอฉบับนี้ ไม่น่ากังวลสำหรับไทยมากนัก เพราะระดับการพัฒนาของอาเซียนแตกต่างกัน ดังนั้น การจะยอมเปิดเสรีในระดับสูง หรือยอมรับมาตรฐานด้านต่างๆ ในระดับสูงทัดเทียมเอฟทีเอฉบับอื่น เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) คงเป็นเรื่องยาก และยังมีอาเซียนอื่นที่จะช่วยลดแรงกดดันให้ไทย เพราะจะมาช่วยไทยเจรจาต่อรอง อีกทั้ง ประเด็นอะไรที่อาเซียนทำตามไม่ได้ ก็อาจทำเป็นความร่วมมือ ที่ไม่ได้บังคับให้ต้องปฏิบัติตาม ไปก่อน ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ อยู่ระหว่างการจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอ เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเอฟทีเอด้วย”
สำหรับประเด็น หรือขอบเขตการเจรจาในเอฟทีเออาเซียน-แคนาดา จะคล้ายกับเอฟทีเอที่แคนาดาได้ทำกับประเทศอื่นแล้ว เช่น เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป เปรู ปานามา คอสตาริกา โคลัมเบีย ฯลฯ ซึ่งจะครอบคลุมการเปิดเสรีการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า พิธีการศุลกากรและการอานวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า การเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา ทรัพย์สินทางปัญญา แรงงาน สิ่งแวดล้อม พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ นโยบายแข่งขันทางการค้า การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ เป็นต้น
ส่วนประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการทำเอฟทีเอฉบับนี้ จากผลการศึกษาที่กรมได้ว่าจ้างศึกษา พบว่า จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น 7,968-254,953 ล้านบาท เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของไทยไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ ที่ไทยยังไม่เคยมีเอฟทีเอด้วยเลย ขณะที่สินค้าไทยที่คาดจะได้ประโยชน์ จากการส่งออกไปแคนาดาเพิ่มขึ้น มีทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร เช่น ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ปรุงรส, สินค้าอุตสาหกรรม เช่น ยางรถยนต์ ถุงมือยาง เครื่องมือและเครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ส่วนกลุ่มสินค้าที่ไทยจะนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อหมูและเครื่องใน เนื้อปลาแช่แข็ง ข้าวสาลี ไม้แปรรูป เฟอร์นิเจอร์ไม้ ฯลฯ
นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการทำเอฟทีเอฉบับใหม่กับกลุ่มประเทศอื่นว่า ล่าสุด ไทยกำลังเร่งหารือกับคู่เจรจา เพื่อจัดทำความคาดหวังของการเจรจาให้ตรงกัน และเร่งจัดทำกรอบการเจรจา เสนอระดับนโยบาย ได้แก่ เอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป (อียู), เอฟทีเอไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ และเอฟทีเอไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเชีย (อีเออียู) ประกอบด้วยรัสเซีย เบลารุส อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน โดยในส่วนของอียู และเอฟตา คาดจะเสนอให้ครม.เห็นชอบกรอบการเจรจาได้อย่างช้าไม่เกินไตรมาสแรกปี 65 หลังจากนั้นจะเริ่มเปิดการเจรจากันได้ทันที
“สาเหตุที่ไทยต้องทำเอฟทีเอฉบับใหม่ๆ เพราะปัจจุบัน ไทยทำการค้ากับประเทศคู่เอฟทีเอ สัดส่วนประมาณ 63% ของการค้าไทยกับโลก ถ้าให้เข้าใจง่ายๆ สัดส่วน 63% เป็นการค้าที่สินค้าไทยไม่ต้องถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเลย แต่อีก 37% ที่เหลือ สินค้าไทยยังต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ จึงทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่ง อย่างเวียดนาม ที่ค้าขายกับประเทศคู่เอฟทีเอมากถึง 80% ของการค้ารวม ส่วนสิงคโปร์ สูงถึง 90% แล้ว ถ้าไทยทำเอฟทีเอกับอียู, เอฟตา, ยูเรเซีย และแคนาดา สำเร็จ สัดส่วนการค้าของไทยกับคู่เอฟทีเอจะเพิ่มขึ้นมาได้อีกกว่า 10% และทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไทยดีขึ้น”