นายกฯ ชื่นชมเด็กไทยสร้างชื่อ โชว์ไอเดียแอปฯ “เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน”

นายกฯ ชื่นชมเด็กไทยสร้างชื่อ โชว์ไอเดียแอปฯ “เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน”

โฆษกรัฐบาล เผย "พล.อ.ประยุทธ์" ชื่นชมเด็กไทย โชว์แนวคิดแอปฯ “เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน” คว้าแชมป์ระดับอาเซียน

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.64 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชื่นชมเด็กไทยคือ น.ส.วรดา ประไพกรเกียรติ (น้องต้นหลิว) และ น.ส.กัญจรีย์ ศุภวิทยา (น้องปิ่นปิ๊น) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ทีม “Youth Forward” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน ASEAN DSE ปี 2564 ด้วยการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาแอปพลิเคชัน “เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน

โดยใช้ Data วิเคราะห์ปัญหาภาคการเกษตรของอาเซียน ยกระดับคุณภาพชีวิต-เพิ่มรายได้ ช่วยเหลือชาวนาซึ่งถือเป็นอาชีพหลักของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและให้เกษตรกรสามารถขายข้าวผ่านแอปฯ ให้กับผู้บริโภคได้โดยตรงโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ทั้งนี้ แนวคิดการพัฒนาแอปพลิเคชัน “เชื่อมชาวนาขายข้าวถึงบ้าน” ดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์จาก Big Data และเทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริงควบคู่กับกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาขับเคลื่อนประเทศรวมถึงวางรากฐานเด็กเยาวชนของประเทศไทยและของประชาคมอาเซียนไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน

 

นอกจากท่านนายกรัฐมนตรี จะชื่นชมแนวคิดการพัฒนาแอปฯ ซึ่งเป็นการใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ควบคู่เทคโนโลยี ในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ยังประทับใจทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving Skill) และปฏิภาณไหวพริบที่เฉลียวฉลาดของเด็กไทยทั้ง 2 คน ในการตอบคำถามของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะคำถามที่ระบุ "หากเกษตรกรไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือสัญญาณขัดข้องจะทำอย่างไร?" ซึ่งน้องทั้งสองคนตอบว่า แอปฯ จะมีข้อมูลอีเมล และเบอร์โทรศัพท์เพื่อเป็นอีกทางเลือกให้กับลูกค้าติดต่อ ส่งผลให้สามารถเอาชนะใจกรรมการ และคว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ

"ท่านนายกรัฐมนตรียังเห็นว่า การเข้าร่วมในเวที ASEAN DSE ระดับภูมิภาค ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ทำให้เด็กไทยได้เรียนรู้ทักษะนอกห้องเรียนด้วยทั้งด้านการสื่อสาร การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความคิดเห็นร่วมกัน อันจะเสริมทักษะด้านการทำงานเป็นทีม ตลอดจนทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นอย่าง Soft Skill ซึ่งเป็นทักษะในศตวรรษที่ 21 ที่เด็กไทยยุคใหม่ควรมีด้วย" นายธนกร กล่าว