พาณิชย์จับมือจับมือ 3 สมาคมผู้ค้า-นำเข้าเคมีเกษตร ลดราคาขายเคมีเกษตร

พาณิชย์จับมือจับมือ 3 สมาคมผู้ค้า-นำเข้าเคมีเกษตร ลดราคาขายเคมีเกษตร

พาณิชย์ จับมือ 3 สมาคมผู้ค้า ผู้นำเข้าเคมีเกษตร ลดราคาเคมีเกษตร 3 กลุ่ม ยากำจัดวัชพืช-ยาปราบศัตรูพืชและแมลง-ยากำจัดโรคพืช ลดราคานำเข้าเคมีเกษตร 74 รายการ รวม 2.35 แสนลิตรต่อกิโลกรีม ลด สูงสุด 35% หรือ 3-150 บาท นาน 3 เดือน เริ่ม 30 พ.ย.64-28 ก.พ.65 หวังลดต้นทุนให้เกษตรกร

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้ประกอบการเคมีการเกษตร เพื่อหาทางลดต้นทุนให้กับเกษตรกรโดยกรมได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต ผู้นำเข้า 22 บริษัท จาก 3 สมาคม ได้แก่  สมาคมไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำโครงการ พาณิชย์ลดราคาเคมีเกษตรช่วยเกษตรกร โดยจะลดราคาขายเคมีเกษตร 3 กลุ่ม คือ ยากำจัดวัชพืช ลดสูงสุด 22% หรือลดราคา 10-150 บาท , ยาปราบศัตรูพืช/แมลง ลดสูงสุด 26% หรือ 3-135 บาท และยากำจัดโรคพืช ลดสูงสุด 35% หรือ 5-150 บาท รวมปริมาณ 235,268 ลิตร/กิโลกรัม หรือ 74 รายการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.64 - 28 ก.พ.65 เป็นเวลา 3 เดือน คาดจะช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท

เคมีเกษตรที่จะนำมาลดราคาครั้งนี้ ครอบคลุมพืชทุกชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา ไม้ผล ทั้งทุเรียน มังคุด ฯลฯ เกษตรกรที่สนใจ สามารถสั่งซื้อผ่านเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และสหกรณ์จังหวัด แต่ต้องแจ้งว่า จะไปรับสินค้าที่ร้านค้าใด โดยกรมจะรวบรวมปริมาณการสั่งซื้อส่งให้ 3 สมาคม ราคาที่ขายตามโครงการ เช่น ไกลฟอร์เซต ขนาด 4 ลิตร เหลือเพียง  650 บาท จากปกติ 800 บาท เป็นต้น”
 

อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณเคมีเกษตร ที่ขายตามโครงการนี้ ไม่มากนัก ประมาณ 1-2% ของปริมาณการใช้โดยรวมในเวลา 1 ปี แต่จะเป็นเครื่องชี้ว่า จากนี้ ราคาเคมีเกษตรในตลาดจะไม่สูงเกินกว่านี้ อีกทั้งยังได้กำชับทั้ง 3 สมาคม ให้กำชับตัวแทนจำหน่ายของตนเอง อย่าฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาขาย เอาเปรียบเกษตรกร หากรายใดฝ่าฝืน จะไม่ส่งสินค้ามาให้ขายอีกต่อไป และหากกรมตรวจพบ ผู้ค้ารายใด ฉวยโอกาปรับขึ้นราคา จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป

หลังจากสิ้นสุดโครงการวันที่ 28 ก.พ.65 แล้ว กรมยังจะขอความร่วมมือผู้ประกอบการทั้ง 3 สมาคมให้ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการ  จะนำเคมีเกษตรรายการอื่น มาลดราคาอีก เพราะมีแนวโน้มว่า ราคาเคมีเกษตรจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง เนื่องจากจีน ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ปรับลดปริมาณการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และยังจำกัดปริมาณการส่งออก ขณะที่ความต้องการใช้ทั่วโลกสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไทยเป็นประเทศนำเข้าเคมีเกษตร 100% จึงได้รับผลกระทบจากราคาที่สูงขึ้นมา 35-40% ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ จำเป็นต้องมีมาตรการช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะมีโครงการช่วยเหลือเกษตรกรด้วย เช่น โครงการเกษตรสุขใจ ที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับเกษตรกรรายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อไปซื้อปัจจัยการผลิต และไม่คิดดอกเบี้ยในเดือนแรก ส่วนสหกรณ์การเกษตร จะปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่อง เป็นต้น
 

ด้าน นายจารึก ศรีพุทธชาติ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นเพราะภาคเอกชนต้องการช่วยเหลือเกษตรกร ให้อยู่รอดได้ เพราะเคมีเกษตร ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรสูงขึ้น แต่หลังจากสิ้นสุดโครงการแล้ว ผู้ประกอบการคงต้องมาพิจารณาอีกครั้งว่า รายได้ที่หายไป รับได้หรือไม่ หรือรับได้แค่ไหน แต่ในเบื้องต้น แม้ผู้ประกอบการจะสูญเสียรายได้ แต่ก็ยอมเสียสละ ยอมขาดทุนกำไร เพราะถ้าเกษตรกรอยู่ได้ ผู้ประกอบการก็อยู่รอดได้เช่นกัน