อัพเดท "เงินเยียวยา" ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงาน

อัพเดท "เงินเยียวยา" ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงาน

ตรวจสอบ เช็คอัพเดท "เงินเยียวยา" ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 จ่ายแสนล้าน ใครยังไม่ได้บ้าง รัฐบาลตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงาน

ตรวจสอบ เช็คอัพเดท "เงินเยียวยา" กรณี เงินเยียวยาประกันสังคม ม.33 ม.39 และ ม.40 จ่ายไปแสนล้านบาท ใครยังไม่ได้บ้าง รัฐบาลตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงาน

ความคืบหน้ามาตรการความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนของประกันสังคม รัฐบาล เผยความคืบหน้าจ่ายเงินเยียวยาประกันสังคม รัฐเดินหน้าจัดตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงานนอกระบบเพิ่มสิทธิประโยชน์

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่าจากการที่รัฐบาลได้มีมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 ที่ได้รับผลกระทบใน 9 ประเภทกิจการ ครอบคลุมพื้นที่ สีแดงเข้ม 29 จังหวัด โดยได้เริ่มทยอยโอนเงินเยียวยาเข้าบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนของผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2564 เป็นต้นมา

ซึ่งปัจจุบัน การจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตน มาตรา 33, 39 และ 40 สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จ่ายไปแล้วเป็นเงิน 100,807,738,500 บาท ครอบคลุม นายจ้างจำนวน 176,769 แห่ง และผู้ประกันตนรวมทั้งสิ้น 12,096,818 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564)

นอกจากนี้ รองโฆษกรัฐบาล ยังเผยต่อว่า สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ซึ่งสถิติปี 2563 ประเทศไทย มีแรงงานนอกระบบจำนวน 20.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 53.8 ของผู้มีงานทำทั้งหมด 37.9 ล้านคน

  • อยู่ในภาคเกษตรกรรมมากที่สุด ร้อยละ 55.6
  • ภาคการค้าและบริการ ร้อยละ 34.1
  • ภาคการผลิต ร้อยละ 10.3


รัฐบาลมีนโยบายดูแลเพื่อให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการประกอบอาชีพและหลักประกันทางสังคมให้ครอบคลุม โดยเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เช่น การรณรงค์ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ การช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบหรือองค์กรแรงงานนอกระบบ

รวมถึงการให้แรงงานนอกระบบสามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนทั้งแบบรายบุคคล และรายกลุ่ม เพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ และยกระดับคุณภาพชีวิต และมีหลักประกันทางสังคมสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันทรัพย์สิน ประกันชีวิต ซึ่งเป็นสิทธิประโยชน์นอกเหนือจากที่ผู้ประกันตนมาตรา 40 ได้รับจากกองทุนประกันสังคม สำหรับแหล่งรายได้ของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมาจาก เช่น ค่าสมาชิกรายปีคนละ 360 บาท ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ครั้งเดียววงเงิน 100 ล้านบาท และเงินดอกผลของกองทุน

รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ สำหรับผู้มีอาชีพอิสระ ขอเชิญชวนให้มาสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคม มาตรา 40 เพราะจะได้รับความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ประกันสังคม กรณี เช่น ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยทุพพลภาพ ตาย และขณะนี้ รัฐบาลได้ขยายอายุผู้ประกันตน มาตรา 40 เป็น 65 ปี

ทั้งนี้ในระยะต่อไป เมื่อกองทุนได้จัดตั้งเป็นที่เรียบร้อย ก็จะเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงเงินทุนประกอบอาชีพ และความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

ตรวจสอบสิทธิ โครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตน ในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ คลิกที่นี่

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

อัพเดท \"เงินเยียวยา\" ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงาน
อัพเดท \"เงินเยียวยา\" ประกันสังคม ม.33 ม.39 ม.40 ตั้งกองทุนคุ้มครองแรงงาน