หอการค้าไทยมั่นใจรัฐรับมือ“โอมิครอน”ได้แนะเข้มป้องกันหวั่นล็อคดาวน์ซ้ำ

หอการค้าไทยมั่นใจรัฐรับมือ“โอมิครอน”ได้แนะเข้มป้องกันหวั่นล็อคดาวน์ซ้ำ

หอการค้าไทย เผย กกร.นัดถก 8 ธ.ค. ผลกระทบสายพันธุ์ใหม่ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก เชื่อรัฐบาลรับมือได้ ด้านผู้ส่งออกชี้“โอมิครอน”ยังไม่กระทบส่งออก จี้ รัฐคุมเข้มป้องกันระบาดเข้าไทย

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า โควิด -19 สายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ยังต้องรอความเห็นของทางการแพทย์ว่าวัคซีนที่ปัจจุบันใช้กันอยู่นั้นสามารถรับมือได้มากขนาดไหน ซึ่งขอให้ทุกภาคส่วนอย่าตื่นตระหนกและการ์ดก็อย่าตก ตอนนี้ความสามารถทางสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นเชื่อว่าสามารถรับมือได้ อีกทั้งทางรัฐบาลก็ได้มีประกาศเพิ่มเติม มีมาตรการสกัดกั้นคนที่เดินทางมาจากพื้นที่แพร่ระบาดแล้วด้วย

การระบาดของโควิด -19 นี้ ยังน่าจะมีต่อไป โดยประเทศไทยนั้นเราผ่านการระบาดระลอกใหญ่มา 3-4 รอบแล้ว ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และ ประชาชน รู้ถึงความเสียหายหากเกิดการล๊อคดาวน์ขึ้นมา ทั้งความเสียหายทางสาธารณสุข และ ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงอยากให้ ทุกภาคส่วนช่วยให้ความร่วมมือปฎิบัติตามมาตรการต่างๆ ที่ออกมาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปีหน้าไม่เกิดการล๊อคดาวน์

ส่วนมุมมองทางเศรษฐกิจ ในปีนี้ที่เหลืออีก 1 เดือน ก็คงสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่เคยประเมินกันไว้ เชื่อว่าการระบาดใหม่ที่เกิดขึ้นยังไม่ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ 1 เดือนที่เหลือนี้ทันที แต่สำหรับปี 2565 ก็ยังขอให้มีข้อมูลการระบาดและผลกระทบเพิ่มเติมมาก่อน โดยในวันที่ 8 ธ.ค.2564 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย จะมีการประชุมหารือกัน

หอการค้าไทยมั่นใจรัฐรับมือ“โอมิครอน”ได้แนะเข้มป้องกันหวั่นล็อคดาวน์ซ้ำ

อย่างไรก็ตามยังเห็นว่าปี 2564 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเกินกว่า 1% ในขณะที่การส่งออกก็น่าจะยืนได้ที่ 15% แม้ว่าจะมีปัญหาเรื่องค่าระวางเรือ และการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ก็ตาม ซึ่งจะมีการหารือกับ กระทรวงพาณิชย์ ในการประชุม กรอ.พาณิชย์ที่จะจัดขึ้นภายในเดือน ธ.ค.นี้เพื่อตั้งเป้าหมายร่วมกันในปี 2565

ส่วนประเด็น แรงงานต่างด้าว เห็นว่า จะต้องเร่งการขึ้นทะเบียน เพื่อให้มีการคุย MOU การจัดหาแรงงานให้ภาคธุรกิจต่างๆ ส่วนนี้ ทางหอการค้าไทยก็ได้มีการคุยกับ กระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ เกิดการขึ้นทะเบียนแรงงาน จะได้มีการจัดสรรวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาด เพราะในขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีปริมาณวัคซีนที่เพียงพอมากขึ้น ซึ่ง ในระหว่างนี้ ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน รีบมาฉีด เพราะอัตราผู้เสียชีวิตจากโควิด -19 นั้นมาจากคนที่ไม่ได้รับวัคซีนทั้งนั้น

สำหรับเงินสู้โควิดที่รัฐบาลมีเหลือ 3.88 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลได้เพิ่มเพดานหนี้สาธารณะไว้แล้วจะทำให้รัฐบาลกู้เพิ่มได้ ซึ่งต้องมาดูว่าสถานการณ์การระบาดครั้งใหม่นี้จะเป็นอย่างไร จึงมาพิจารณาในประเด็นนี้อีกครั้ง แต่วงเงินที่เหลืออยู่ควรจะนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ประกอบการและป้องกันการระบาด ซึ่งขณะนี้ขอดูสถานการณ์เพิ่มเติมก่อน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การระบาดของสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน" ที่เริ่มระบาดในยุโรป โดยในระยะสั้นยังไม่กระทบต่อการส่งออกไทยไปประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ซึ่งมั่นใจการส่งออกปี 2564 จะขยายตัว 12-13% ส่วนจะถึง 15-16% คงต้องดูปัจจัยอื่นมาเสริม โดยเฉพาะปัญหาการขนส่งทางทะเลและค่าระวางเรือที่สูง

ส่วนไตรมาส 1 ปี 2565 ยังมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ซึ่งแสดงว่าโอมิครอนยังไม่กระทบต่อการส่งออก แต่ในระยะยาวคงต้องจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอน โดยเฉพาะวัคซีนว่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ และแตกต่างกับสายพันธุ์เดลต้าที่วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 

“หากชัดเจนว่าป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ก็ไม่มีปัญหา แต่หากป้องกันไม่ได้ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลต่อภาคการส่งออก”

นายชัยชาญ กล่าวว่า สถานการณ์น่าจะไม่เลวร้ายถึงขั้นใช้มาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งเห็นว่าโอกาสน่าจะเกิดได้น้อยเพราะทุกประเทศมีมาตรการดูแลเข้ม และไม่เหมือนสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า และสิ่งสำคัญขณะนี้คือการป้องกันไม่ให้ สายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาในประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวดไม่ให้แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศได้ รวมทั้งให้ความรู้ ข้อเท็จจริงต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโอมิครอน และการป้องกันตนเองทั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง ทั้งนี้จะต้องไม่ประมาท