SO ผนึก “หัวเว่ย” พัฒนาแพลตฟอร์มลุยธุรกิจแห่งอนาคต

SO ผนึก “หัวเว่ย” พัฒนาแพลตฟอร์มลุยธุรกิจแห่งอนาคต

สยามราชธานี ผนึกกำลัง หัวเว่ย เซ็น MOU ร่วมทำการตลาด และแลกเปลี่ยนการทำงาน หวังเสริมศักยภาพและพัฒนาให้เกิดระบบนิเวศทางธุรกิจรายใหม่ร่วมกัน

นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สยามราชธานี จำกัด (มหาชน) หรือ SO ผู้นำด้านธุรกิจการจ้างเหมาบริการครบวงจร (Outsourcing Services) เปิดเผยถึงการเป็นหนึ่งในพันธมิตรความร่วมมือกับ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า หลังได้มีการประกาศความร่วมมือลงนามข้อตกลง (Memorandum of Understanding) จำนวน 5 ฉบับกับ 5 พันธมิตร จากงาน POWERING DIGITAL THAILAND 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA PACIFIC INNOVATION DAY

ซึ่งครอบคลุมหลากหลายภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคโทรคมนาคม ภาคสื่อโทรทัศน์ ภาคเทคโนโลยีเอกชน ภาคบริการ และภาคการเงิน การธนาคาร เพื่อมุ่งผลักดันประเทศไทย เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัลอย่างเต็มตัวผ่านการสร้างอีโคซิสเต็มของพาร์ทเนอร์ที่สมบูรณ์

เป็นเรื่องที่ดีที่ทางสยามราชธานีได้มีโอกาสเป็น 1 ใน 5 พันธมิตรการทำ MOU ครั้งนี้กับหัวเว่ย โดยหลักจะเป็นความร่วมมือในการทำด้านการตลาด รวมถึงการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้เกิดแพลตฟอร์มหรือมาตรฐานโลกใหม่ โดยมีเป้าหมายธุรกิจที่จะก้าวไปสู่วิถีใหม่ (New Normal) โดยทั้ง 2 บริษัทจะร่วมกันศึกษา พัฒนาความสามารถที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนส่งเสริมให้ธุรกิจ ของบริษัททั้ง 2 แห่งเกิดประสิทธิภาพให้มากที่สุด

ตั้งแต่ร่วมกัน การแชร์ทั้งด้านข้อมูล การใช้ผู้เชี่ยวชาญ การร่วมทำงานกันทางด้านงานวิจัยและพัฒนา ทั้งหมดนี้ก็เนื่องจากมีเป้าหมายทำให้ธุรกิจและสามารถตอบสนองงานบริการกับลูกค้าได้อย่างครบวงจร และที่สำคัญคือ การพร้อมที่จะสนับสนุนระบบนิเวศ (Ecosymtem) ของสตาร์ทอัพและพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี  MOU ครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินงานตามเป้าหมายที่บริษัทพยายามหาพันธมิตรโกลบอลคลาวด์ เพื่อยกระดับแพลตฟอร์มคลาวด์โซลูชั่นมากขึ้น เนื่องจาก SO มีแผนงานที่ชัดเจนว่าต้องการขยายงานไปยังกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และในขณะเดียวกันนั้น SO ก็จะได้โอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่จากพันธมิตรต่างประเทศ รวมถึงยังเปิดรับสตาร์ทอัพต่างๆ ที่มีแนวคิดในการยกระดับแพลตฟอร์มนี้ไปด้วยกัน

นายณัฐพล กล่าวว่า สิ่งที่สยามราชธานี ทำยังถือเป็นการดำเนินตามแผนงานของปี 2564 สู่การเติบโตปี 2565 ให้แข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยพยายามไม่มองอุปสรรคจากสภาวะทางเศรษฐกิจปัจจุบันว่าเป็นปัญหา แต่กลับคอยมองหาโอกาส พันธมิตร ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือต่างอุตสาหกรรมที่หากสามารถร่วมมือกันทำงานได้อย่างดีก็พร้อมที่จะใช้แนวทางการร่วมกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

ทั้งแบบการร่วมทุนทางธุรกิจ หรือการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ในการเติบโตต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายตั้งแต่บริษัท Outsource, Software Enterprise และProfessional Training

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์