"มะเร็งกระเพาะอาหาร" เช็คสัญญาณเตือนโรคที่น่ากลัวที่สุด แต่เรามักมองข้าม
ทีมข่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ "มะเร็งกระเพาะอาหาร" ภัยเงียบที่เรามักมองข้าม รวมถึงสัญญาณเตือนของโรค ว่ามีปัจจัยจากสิ่งใดบ้าง
"มะเร็งกระเพาะอาหาร" ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง จากข่าวการสูญเสียของท่าน "แม่ชีศันสนีย์" เสถียรสุต ที่คืนสู่ธรรมชาติ (เสียชีวิต) อย่างสงบหลังจากที่รักษาอาการป่วยเป็นโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหารมาตั้งแต่ปี 2560
วันนี้ทีมข่าว กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปทำความรู้จักกับ "มะเร็งกระเพาะอาหาร" ภัยเงียบที่เรามักมองข้าม รวมถึงสัญญาณเตือนของโรค
"มะเร็งกระเพาะอาหาร" เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร จนแพร่กระจายไปสู่อวัยวะข้างเคียง โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริเวณของกระเพาะอาหาร ซึ่งมีบางตำแหน่งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้
สาเหตุส่วนใหญ่ของ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารแปรรูป และอาหารปิ้งย่าง รวมถึงมี
ปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนี้
- อายุที่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
- เพศชายมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารสูงกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า
- ผู้มีประวัติบุคคลใกล้ชิดในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- การติดเชื้อ Pylori แบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและสร้างภาวะอักเสบ หากปล่อยทิ้งไว้เรื้อรังอาจนำไปสู่โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ผู้ที่เคยผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิดโรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
- การสัมผัสฝุ่น สารเคมี และสารก่อมะเร็งเป็นเวลานาน
- สูบบุหรี่เป็นประจำ
อาการ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
เป็นภัยร้ายที่แฝงตัวเงียบ โดยมักไม่มีอาการในระยะแรก กว่าจะรู้ตัวก็เกิดอาการรุนแรงและลุกลามไปตามอวัยวะใกล้เคียง ดังนั้นควรสังเกต หากมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อยเป็นประจำ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร แสบร้อนบริเวณหน้าอก หากปล่อยไว้โรคอาจรุนแรงขึ้น จึงควรพบแพทย์ทันทีที่พบอาการผิดปกติ ดังนี้
- อุจจาระมีเลือดปน
- อาเจียน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- น้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุ
- ปวดท้อง และอ่อนเพลีย โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหาร
การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งตามระยะของโรค คือ
- ผู้ป่วยระยะแรก อาจไม่แสดงอาการ แต่มาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นท้อง ท้องอืด หรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งระยะเริ่มต้นนี้ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้กล้องส่องทางเดินอาหารเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสหายขาดสูงมาก
- ผู้ป่วยระยะที่มะเร็งเริ่มมีขนาดโต แต่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยการเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออก ทั้งนี้อาจมีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
- ระยะที่มะเร็งลุกลามไปติดอวัยวะข้างเคียง เช่น ในผนังช่องท้อง ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่ปัจจุบันสามารถใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับความร้อน มาช่วยในการผ่าตัด (HIPEC) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากขึ้น
- ระยะสุดท้าย หรือระยะมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ระยะนี้ไม่สามารถผ่าตัดและไม่สามารถรักษาให้หายขาด แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรค
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของโรคนี้ คือ อาการในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะดูเป็นอาการที่พบได้บ่อย ๆ และไม่รุนแรง เช่น ท้องอืด เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ไม่อยากอาหาร เป็นต้น และเมื่อระยะของโรคมีการพัฒนามากขึ้น อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง โดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง มีเลือดปนอุจจาระ อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด อ่อนเพลีย หรืออาจมีลักษณะคล้ายกับอาการของโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร ไวรัสลงกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจทำให้มองข้ามสัญญาณเตือนเหล่านี้ไป ด้วยเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคอื่น
ข้อมูลประกอบจาก : รพ.สมิติเวช