เปิด 10 อันดับ ประกันวินาศภัย เงินกองทุน สุดแกร่ง
ประกันวินาศภัยที่มีเงินกองทุนสูงสุด ณ ไตรมาส3/64 นำโดย ธนชาตประกันภัย CAR Ratio แตะ1,389% รองมา มิตซุย ซูมิโตโม 1,212% ด้านประกันรถยนต์ ธนขาตประกันภัย ยังครองแชมป์อันดับ 1 รองมาเป็น ชับบ์สามัคคีฯ 620% ฝั่งสินมั่นคง 172% ด้าน เดอะวัน -373% ไทยประกันภัย -410%
จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมานี้ส่งผลต่อหลากหลายอุตสาหกรรม ร่วมถึง "ธุรกิจประกันวินาศภัย และยังมีการกลายพันธุ์ใหม่ของเชื้อโควิด-19 เป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมได้ตลอดเวลา ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวในระดับต่ำ
เมื่อมาถึง ช่วงปลายปีนี้เช่นนี้ ประชาชนเริ่มคิดหนักเพราะเป็นช่วง "พิจารณาต่ออายุประกัน" ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะ "ประกันภัยรถยนต์"ที่ยังผู้ถือกรมธรรม์เป็นจำนวนมาก คิดเป็นส่วนใหญ่ของทั้งระบบ
แน่นอนว่าหากบริษัทที่มีประกันโควิดมากๆจนมีปัญหาสภาพคล่องจ่ายเคลมไม่ไหว อาจจะกระทบต่อการจ่ายเคลมประกันอื่นๆด้วยหรือไม่ หรือหากบริษัทต้องปิดตัวลง เช่น เอเชียประกันภัย ยังมีลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ประกันภัยอื่นๆได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ดังนั้น การมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทประกันแต่ละที่นั้นมีความสามารถมากน้อยแค่ไหนในการรับประกันภัย
เราอาจต้องใช้ความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันเป็นเกณฑ์ชี้วัด โดยสามารถดูได้จาก “อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน หรือ Capital Adequacy Ratio (CAR)” มาเป็นตัวช่วยแรกที่ใช้ประกอบการตัดสินใจ
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซด์สมาคมประกันวินาศภัยไทย รายงานว่า ณ ไตรมาส 3 / 2564 (ข้อมูล ณ 8ธ.ค.2564)
บริษัทประกันวินาศภัย ที่มีอัตราส่วนความเพียงของเงินกองทุน หรือ CAR Ratio (%) สูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้
1.ธนชาตประกันภัย CAR Ratio 1,386%
2.มิตซุย ซูมิโตโม CAR Ratio 1,212%
3.ไทยไพบูลย์ประกันภัย CAR Ratio 1,137%
4.ไทยประกันสุขภาพ CAR Ratio 1,070%
5.เอไอเอ ประกันวินาศภัย CAR Ratio 1,059%
6.กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ CAR Ratio 861%
7.เอ็ทน่าประกันสุขภาพ CAR Ratio 689%
8.เอไอจี CAR Ratio 665%
9.คุ้มภัยโตเกียวมารีน CAR Ratio 654%
10.เทเวศประกันภัย CAR Ratio 617%
10 อันดับ บริษัทประกันรถยนต์ เงินกองทุนแกร่งสุด ดังนี้
1.ธนชาตประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 1313 % ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 1386%
2.ชับบ์สามัคคีประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 638% ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 620%
3.คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 580 % ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 654%
4.แอลเอ็มจี CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 425% ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 571%
5.เมืองไทยประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 300 % ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 277%
6.ทิพยประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 226% ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 253%
7.อาคเนย์ประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 161% ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 220%
8.กรุงเทพประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 245% ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 202%
9.สินมั่นคงประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 275 % ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 172%
10.วิริยะประกันภัย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 210 % ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 167%
โดยตามกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจปนะกันภัย(คปภ.) กำหนด ให้บริษัทประกันวินาศภัย ต้องมี CAR Ratio ไม่ต่ำกว่า 120%
ล่าสุด ในช่วงไตรมาส3 /2564 ซึ่งจะสะท้อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ที่รุนแรงและยืดเยื้อว่าจะมีผลเชิงลบต่อฐานะเงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัย โดยเฉพาะบริษัทประกันวินาศภัยที่ขายประกันภัยโควิด-19 ซึ่งในช่วงไตรมาส3 /2564 ที่ผ่านมานี้ หลายบริษัทประกันต้องประสบปัญหาสภาพคล่องจ่ายเคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 แบบเจอจ่ายจบเป็นจำนวนมาก ทำให้อัตราการเคลมเพิ่มขึ้นเป็น100 เท่า รวมถึงมีการปิดกิจการไปหนึ่งแห่งคือ "เอเซียประกันภัย"
แต่อย่างไรก็ดี จะพบว่า บริษัทประกันที่มีปัญหาด้านสภาพคล่องและเข้าสู่ความช่วยเหลือตามมาตรการผ่อนปรนของคปภ. อย่าง "สินมั่นคงประกันภัย" ถือได้ว่าเป็นบริษัทที่มีเงินกองทุน CAR Ratio สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดโดยไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 275 % และไตรมาส3/2564 อยู่ที่ 172% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหาพันธมิตรร่วมทุน เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งรองรับสถานการณ์โควิด-19และแผนธุรกิจในอนาคต ถือได้ว่า เป็นบริษัทที่เนื้อหอมมากเลยทีเดียว เพราะมีหลายค่ายประกันยักษ์ใหญ่ต่างประเทศสนใจร่วมลงทุน ต้องรอดูว่า "จะลงเอยกับใคร"
ขณะที่ "เดอะวันประกันภัย" ถูกสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เพื่อหาแนวทางดำเนินการเพิ่มทุนให้เงินกองทุนเป็นไปตามที่กำหนด ให้สามารถดำเนินการจ่ายสินไหมได้ตามสัญญาประกันภัย โดยมีระยะเวลาภายใน 15 วันหลังจากที่มีคำสั่งคปภ. ซึ่งก็ใกล้จะครบกำหนดเวลาในสัปดาห์ที่จะถึงนี้แล้ว ต้องติดตามว่าจะมีทางออกอย่างไร โดย CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 110% แต่ ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ -373% ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สะท้อนผลการขาดทุนเคลมโควิดเจอจ่ายจบไปแล้วกว่า 4,000 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ "ไทยประกันภัย" ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างเครือไทยโฮลดิ้งส์ ตัดสินใจคืนใบอนุญาต และไม่มีการรับประกันภัยลูกค้ารายใหม่ในปี 2565 เป็นต้นไป แต่ยังดูแลลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ที่มีผลอยู่ทุกรายจนกว่าจะสิ้นสุดสัญญาความคุ้มครอง โดยใน CAR Ratio ไตรมาส2/2564 อยู่ที่ 281% แต่ ไตรมาส3/2564 อยู่ที่ -410% ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สะท้อนผลขาดทุนเคลมโควิดเจอจ่ายจบกว่า 1,900 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตามจะพบว่า บริษัทอื่นๆที่มีการรับประกันภัยโควิด-19 อื่นๆเช่นความคุ้มครองโคม่าและค่ารักษาพยาบาล รวมถึงอื่นมีความคุ้มครองเจอจ่ายจบ แต่ทุนประกันไม่สูงแค่หลักหมื่น หรือ แพ้วัคซีน ร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทที่อยู่ในกลุ่มท็อทไฟท์ของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยและประกันภัยรถยนต์ ยังมีเงินกองทุนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดได้อย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มมี CAR Ratio ลดลงบ้างเล็กน้อย เช่น วิริยะประกันภัย เมืองไทยประกันภัย กรุงเทพประกันภัย ขณะที่บางแห่งมีการเพิ่มเงินกองทุนในระดับที่สูงขึ้น เช่น ทิพยประกันภัย อาคเนย์ประกันภัย
นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่มีกองทุนฐานะการเงินแน่นปึก ใน3อันดับแรกของอุตสาหกรรม ได้แก่ "ธนชาตประกันภัย ชับบ์สามัคคีประกันภัยและ คุ้มภัยโตเกียวมารีนประกันภัย" ไม่ได้มีการรับประกันภัยโควิด-19 แต่อย่างใด