ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางแผนปี 65 รุกตลาดทุนดิจิทัล

ตลาดหลักทรัพย์ฯ กางแผนปี 65 รุกตลาดทุนดิจิทัล

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดยุทธศาสตร์ปี 65 ตั้งเป้าสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก-ธุรกิจนิวเอสเคิร์ฟ เข้าระดมทุน เล็งออกผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงการลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น ช่วยนักลงทุนกระจายความเสี่ยง พร้อมเดินหน้าสู่ตลาดทุนดิจิทัล

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยในงานสัมมนา “ส่องหุ้นไทย 2022 ลงทุนรับเปิดประเทศ” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า สำหรับโจทย์ใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2565 ตั้งเป้าหมายสนับสนุนการระดมทุนของบริษัทขนาดเล็ก รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้ามาลงทุนในกลุ่มบริษัทดังกล่าวได้

ถัดมาคือการสนับสนุนภาคธุรกิจใหม่ (New S-curve) ให้เข้ามาระดมทุนมากขึ้น ทั้ง New S-curve ในไทย ภูมิภาค และต่างประเทศ และสุดท้ายคือการสนับสนุนให้นักลงทุนไทยสามารถกระจายการลงทุนไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้มองว่าในอนาคตตลาดทุนไทยจะต้องปรับตัวอย่างแน่นอน เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่แม้จะยังไม่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกดิจิทัล (Digital Disruption) มากนัก แต่ตลาดทุนไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ

โดยมองว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งวิถีใหม่ (New Normal) และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคตเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

เล็งให้บริการตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล

ยิ่งไปกว่านั้น ในอนาคตตลาดทุนไทยอาจมีทั้งตลาดทุนแบบเดิม (Traditional Asset) และตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) แยกกัน โดยสินทรัพย์ดิจิทัลมีสินทรัพย์หลากหลายแบบ ทั้งโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะให้บริการบางสินทรัพย์เท่านั้น

มองไปข้างหน้า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 5 เรื่องสำคัญที่ต้องปรับตัว 1. ผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างประเทศ จากปัจจุบันตลาดทุนไทยมีแต่หุ้นของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยเป็นส่วนใหญ่ แม้บจ.ดังกล่าวจะเริ่มออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้น แต่บจ.ที่เป็นบริษัทต่างประเทศยังมีค่อนข้างน้อย

ดังนั้นเป็นโจทย์แรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับตัว จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยมีหุ้นตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) กองทุนรวมดัชนี (ETF) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ที่เป็นบริษัทต่างประเทศมากขึ้น ทั้งการอ้างอิงหุ้นรายตัว ดัชนี และกองทุนต่างๆ เพื่อให้อนาคตตลาดทุนไทยสามารถซื้อขายได้ทั้งบริษัทไทย บริษัทในภูมิภาค และบริษัทระดับโลก

ดึงบริษัทต่างชาติระดมทุนตลาดหุ้นไทย

ปัจจุบันบริษัทต่างประเทศสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดทุนไทยได้ 5 ช่องทางด้วยกัน ได้แก่ 1. การตั้งบริษัทโฮลดิ้ง 2. การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งแรก (Primary Listing) 3. การเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งที่สอง (Secondary Listing หรือ Cross-Listing) 4. การตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Trust) และ 5. การตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)

โดยเชื่อว่าในอนาคตตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีสินทรัพย์ต่างประเทศให้นักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ ผ่านการออกเป็นหลักทรัพย์ในประเทศ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงการลงทุนต่างประเทศแล้ว อาทิ ดัชนี, กองทุน ETF, ผลิตภัณฑ์ที่เป็น DW, กองรีท, DR หรือบริษัทโฮลดิ้ง ฯลฯ ซึ่งนักลงทุนสามารถลงทุนต่างประเทศผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่แต่ละประเทศถูกกระทบไม่เหมือนกัน การกระจายการลงทุนจึงมีประโยชน์มากขึ้น

2.การสนับสนุนการระดมทุนของบริษัทขนาดเล็ก เช่น สตาร์ทอัพ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงบริษัทที่มาจากภาคเศรษฐกิจใหม่(New Economy) ที่อาจยังไม่มีผลกำไร แต่มีศักยภาพเติบโตได้อย่างรวดเร็วในอนาคต

ทำอย่างไรให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสเข้ามาใช้ตลาดทุนไทยเป็นช่องทางระดมทุน จากเดิมในอดีตบริษัทที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มักจะเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่

เปิดกระดานที่สามเต็มรูปแบบปี 65

ขณะที่ การสนับสนุนบริษัทขนาดเล็ก ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดทำแพลตฟอร์มสนับสนุนการลงทุน ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการได้เต็มรูปแบบในปี 2565 ได้แก่ 

1. Scaling Up Platform หรือ LiVE Platform เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้อาทิ วิธีการจัดตั้งบริษัท วิธีการลงบัญชี หรือการดำเนินการทางกฎหมาย เป็นต้น รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้นักลงทุนสามารถเข้ามาต่อยอดลงทุนได้ในอนาคต

2. LiVE Exchange โดยหวังเป็นช่องทางระดมทุนให้บริษัทที่เริ่มเติบโตและมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเปิดโอกาสให้นักลงทุนที่เป็นนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนที่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอสามารถเข้ามาลงทุน รวมถึงสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือบนกระดานได้

โดยเชื่อว่าโครงการนี้จะสนับสนุนให้บริษัทขนาดเล็ก และนักลงทุนที่สนใจ สามารถเข้ามาพบกันเพื่อสร้างธุรกิจและระบบเศรษฐกิจใหม่ๆ

3. กระแสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โดยพบว่านักลงทุนมีแนวโน้มออกไปลงทุนในตลาดสินทรัพย์ประเภทใหม่นี้มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ทำอย่างไรให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลิตภัณฑ์ลงทุนที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่สนใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น อาทิ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ สามารถดึงคนรุ่นใหม่ให้ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือลงทุนในประเทศไทยได้

โดยมองว่าโครงสร้างของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และตลาดทุนแบบเดิม มีความคล้ายคลึงกันมาก เพียงแต่ผู้เล่น (Player) ในตลาดมีความแตกต่างกัน เช่น ตลาดทุนแบบเดิมมีที่ปรึกษาการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ และผู้เก็บรักษาตราสาร ขณะที่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีผู้ออกตราสารการลงทุน (Token Issuer) ตลาดดิจิทัล กระเป๋าเงินดิจิทัล และผู้เก็บรักษากระเป๋าเงิน (Wallet Key)

“เพราะฉะนั้นองค์ประกอบของทั้ง 2 ตลาดมีความใกล้เคียงกัน เพียงแต่ผู้เล่นมีความแตกต่างกัน ในอดีตผู้เล่นจะเป็นผู้เล่นที่รวมศูนย์ (Centralize) มีการออกกฎต่างๆ ว่ามีใครบ้างที่เป็นได้ แต่ในอนาคตกฎต่างๆ จะผ่อนคลายลง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นต่างๆ เข้ามาทำหน้าที่ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นการกระจายศูนย์ (Democratization) สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เพราะมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันและให้บริการได้มากขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือตลาดทุนไทย จะต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ทำให้ผู้เล่นต่างๆ สามารถเข้ามาให้บริการได้ง่ายและสะดวกขึ้น”

4. Digital Disruption เข้ามากระทบอย่างรวดเร็วและรุนแรง ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คาดการณ์ อาทิ การทำธุรกิจในปัจจุบัน หากทำในรูปแบบเดิม (Brick and Mortar) อย่างการซื้อขายสินค้าแบบพบหน้ากัน จะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจทำได้ช้าและครอบคลุมได้น้อยกว่าการให้บริการทั้งในรูปแบบอนาล็อกตามสถานที่ต่างๆ และรูปแบบดิจิทัล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่ตลาดทุนไทยจะต้องปรับตัว

ทรานฟอร์มสู่ดิจิทัล

ทั้งนี้ ในอนาคตการให้บริการทางการเงินทุกอย่างจะต้องอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ทั้งการเปิดบัญชี การรู้จักตัวตนลูกค้า (KYC) หรือการประเมินความเสี่ยงลูกค้า (Suitability Test) เป็นต้น เช่นเดียวกับการดำธุรกิจ เช่น การประชุมผู้ถือหุ้นผ่านช่องทางออนไลน์ (e-AGM) หรือการจ่ายเงินปันผลผ่านช่องทางออนไลน์ (e-Dividend) ฯลฯ ควรจัดทำผ่านช่องทางออนไลน์

อย่างไรก็ดี โลกดิจิทัลมาพร้อมกับความท้าทายในการกำกับดูแล และภัยคุกคามทางไซเบอร์ (Cyber Threats) ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน

5. การคำนึงถึงการกำกับดูเเลกิจการที่ดี (CG) รวมถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ซึ่งเดิมเป็นประเด็นที่หลายคนอาจยังไม่ให้ความสำคัญหรือเห็นผลกระทบของการดำเนินการ เพราะในอดีตแม้เป็นเรื่องที่ดี แต่เป็นเรื่องที่มีต้นทุนสูง และผลตอบแทนยังเห็นไม่ชัด แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะหลังโควิด-19 นักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนเห็นประโยชน์ของการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพราะช่วยให้บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งอย่างมากในด้านดังกล่าว สะท้อนจากจำนวนบจ.ที่ติดอันดับดัชนีความยั่งยืนโลก อาทิดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) 24 บริษัทดัชนีความยั่งยืนของ MSCI (MSCI ESG) 40 บริษัท และดัชนีความยั่งยืนฟุตซี่ (FTSE4Good) 40 บริษัท

มองไปข้างหน้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังเดินหน้าสนับสนุนบจ.ในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน เพราะเป็นประเด็นที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจเพิ่มขึ้น ขณะที่ส่วนต่างผลตอบแทนของบริษัทที่ดำเนินการด้านความยั่งยืนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย