กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่อออนไลน์ พระราชทานแก่ แพทย์ประจำบ้าน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ปีการศึกษา 2564
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายพิเศษเรื่อง "ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง - Immuno-oncology" พระราชทานแก่ แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 ผ่านสื่อออนไลน์ ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
วันนี้ (15 ธ.ค.64) เวลา 12.57 น. ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จออก ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ทรงบรรยายพิเศษผ่านสื่ออิเล็กทรอนิก (ออนไลน์) เรื่อง “ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง - Immuno-oncology” พระราชทานแก่ แพทย์ประจำบ้าน ชั้นปีที่ 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2564 โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า
“ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง” เป็นการรักษามะเร็งโดยใช้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเองต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง อาศัยหลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย โดยระบบภูมิคุ้มกันจะถูกกระตุ้นเพื่อให้กำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งก็คือเซลล์มะเร็งออกไปจากร่างกาย จัดเป็นแนวทางใหม่และเป็นอีกทางเลือกในการรักษามะเร็ง ที่มีผลข้างเคียงต่อผู้ป่วยน้อย และยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือการฉายรังสี
กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงบรรยายถึง ระบบภูมิคุ้มกันกับโรคมะเร็ง (The immune system and Cancer) ว่าความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งแบ่งเป็น 2 แบบ คือ ภูมิคุ้มกันที่ได้มาแต่กำเนิด และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งร่วมกันทำงานเกี่ยวข้องใกล้ชิดกัน โดยมีระบบการเฝ้าระวังของภูมิคุ้มกันที่สามารถแยกความแตกต่างระหว่างเซลล์ปกติของร่างกาย และเซลล์ที่ผิดปกติได้ โดยปกติ เซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันจะไม่ทำลายเซลล์ของร่างกายเนื่องจากมีความสามารถในการจดจำเซลล์ของร่างกายได้ จึงสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งแปลกปลอมที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้
เซลล์ต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด จะทำให้เกิดการตอบสนองในลักษณะภูมิคุ้มกันทั่วไป สามารถจำแนกคุณลักษณะในระดับโมเลกุลที่อยู่บนผิวเซลล์ของเซลล์แปลกปลอมหรือเซลล์ผิดปกติ โดยไม่จำเป็นต้องมีการสัมผัสสิ่งเหล่านี้มาก่อน และส่งสัญญาณไปเรียกเซลล์อื่นๆ ของระบบภูมิคุ้มกันให้มายังตำแหน่งนั้น เพื่อร่วมกันโจมตีและกำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปอย่างรวดเร็ว เช่น
การกำจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกาย แต่หากการทำงานของภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ก็จำเป็นต้องใช้ระบบภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะมากขึ้น ซึ่งจะมีการพัฒนาความจำ ถึงการสัมผัสเซลล์แปลกปลอมนั้นมาก่อน ทำให้เกิดการตอบสนองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อสัมผัสอีกครั้ง โดยทรงยกตัวอย่าง กลไกการทำงาน และการตอบสนองของเซลล์ชนิดต่างๆ ในระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น
ในช่วงท้าย กรมพระศรีสวางควัฒนฯ ทรงเน้นถึงความสำคัญที่ระบบภูมิคุ้มกันสามารถจำแนกได้ว่า เซลล์มะเร็งที่เกิดจากเนื้อเยื่อในร่างกายเจ้าของเองนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม แม้ว่าเซลล์มะเร็งนั้นจะเคยเป็นเซลล์ปกติที่อยู่ในร่างกาย และกำจัดเซลล์แปลกปลอมออกไปจากร่างกาย โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อตนเอง พร้อมทั้ง ทรงยกตัวอย่างแอนติเจนของเซลล์มะเร็ง ที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน แอนติเจนเหล่านี้สามารถเป็นตัวบ่งชี้มะเร็งที่ใช้ในการวินิจฉัยโรค และการนำมาใช้เป็นเป้าหมายในการการรักษาโรคมะเร็งต่อไป