คลังลุยเก็บภาษีขายหุ้นดึงรายได้ 1.6หมื่นล้าน
“อาคม”เผย คลังเตรียมเก็บภาษีขายหุ้นปี 65 อัตรา 0.1%ของมูลค่าซื้อขายเกิน1ล้าน ต่อเดือน แจงเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปภาษี เพื่อความเป็นธรรมกับรัฐ หลังยกเว้นมานานกว่า 30 ปี “บล.เอเซีย พลัส“ คาดรัฐมีรายได้เพิ่ม 1-2 หมื่นล้านต่อปี หวั่นกระทบวอลุ่ม ผลตอบแทนลด
กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐให้มีความยั่งยืน โดยหนึ่งในแผน คือ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Financial Transaction tax ซึ่งจะเริ่มในปี 2565 หลังจากภาษีดังกล่าวที่ถูกยกเว้นมานานกว่า 30 ปี เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลัง ยกเว้นภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงยกเว้น Capital gains tax ซึ่งในหลายประเทศมีการจัดเก็บภาษีทั้ง 2 ตัวนี้ บางประเทศก็เก็บตัวใดตัวหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่มีการเก็บ Financial Transaction Tax
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีความจำเป็นต้องเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาครัฐ หลังจากที่ได้มีการยกเว้นการจัดเก็บมาอย่างยาวนาน โดยการนำกฎหมายภาษีตัวใดออกมาใช้ในประเทศนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงสภาพเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆว่า มีการฟื้นตัวแล้วหรือยังด้วย
“เรื่องภาษีตัวใหม่ๆนั้น ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากธุรกรรมอีเซอร์วิสต่างๆ ซึ่งก็ได้รับรายงานจากกรมสรรพากรว่า มีรายได้เข้ามาเกินเป้าหมาย ส่วนภาษีตัวอื่นๆเราก็พิจารณาอยู่ เช่น ภาษี Financial Transaction Tax ซึ่งไม่ได้เก็บมานาน เราก็จะมีแผนจะจัดเก็บในปีหน้า แต่ต้องดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม” นายอาคม กล่าว
ชี้สร้างความเป็นธรรมภาครัฐ
ส่วนการจัดเก็บภาษีดังกล่าว รัฐบาลจะมีรายได้เท่าไหร่นั้น เขากล่าวว่า ก็คงได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ไม่ถึงขนาดเป็นแสนล้าน ซึ่งเรามองว่า เป็นการสร้างความเป็นธรรมที่การซื้อขายต้องจ่ายค่าธรรมเนียมแก่รัฐ ถ้าดัชนีตลาดจะปรับลดลงก็ต้องยอมรับ
ทั้งนี้ ตามประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นประมวลกฎหมายของกรมสรรพากร ในหมวดที่ 5 เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้กำหนดให้การประกอบกิจการ ด้านการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท. )ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยฐานภาษี (tax point) จะคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆทั้งสิ้น โดยกำหนดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 0.1%
ให้โบรกหักภาษีขาย
สำหรับการชำระภาษีนั้น ให้โบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์ เป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยที่ผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรยังไม่ได้จัดเก็บภาษีดังกล่าว เนื่องจาก มีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้น แต่หากระดับนโยบายต้องการจัดเก็บภาษีตัวนี้ ก็เพียงแต่ยกเลิกการยกเว้นดังกล่าว ก็จะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ทันที
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อัตราการจัดเก็บ Financial Transaction Tax นั้น เป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ทำให้รายได้ภาครัฐมีความยั่งยืนมากขึ้น โดยในการพิจารณาของคณะกรรมการปฏิรูปภาษีนั้น ได้มีการหารือถึงอัตราการจัดเก็บที่ 0.1% ของการขายหุ้นที่เกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป หรือ อาจจะมากกว่านั้น คาดการณ์จัดเก็บรายได้กว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ เดิมมีแผนจะดำเนินการจัดเก็บตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป แต่เนื่องจาก สถานการณ์เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ทำให้แผนการจัดเก็บภาษีดังกล่าวต้องพับไป อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมการก็ได้ตั้งเป้าหมายว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะสามารถเริ่มได้ในปี 2565 โดยจะดูจังหวะเศรษฐกิจที่เหมาะสม
เล็งประกาศอัตราจัดเก็บ
นอกจากนี้ ในระดับนโยบายต้องการที่จะให้มีการจัดเก็บตั้งแต่บาทแรกของการซื้อขาย แต่เนื่องจาก ทางตลาดทุนได้โต้แย้ง เนื่องจาก กังวลจะกระทบต่อภาพรวมตลาดทุน โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ดังนั้น จึงมาจบที่ตัวเลขเกินกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งมองว่า เป็นมูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นสำหรับนักลงทุนที่มีฐานะ
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า หากภาครัฐมีนโยบายที่ชัดเจนว่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเมื่อใด ก็สามารถทำได้ทันที โดยออกเป็นประกาศกระทรวงให้จัดเก็บ เนื่องจาก มีข้อกฎหมายในประมวลรัษฎากรที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี
อย่างไรก็ดี ทางกรมสรรพากรและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องร่วมพัฒนาระบบที่จะสามารถตรวจสอบได้ว่า นักลงทุนรายใดที่มีปริมาณการซื้อขายที่เข้าข่ายการเสียภาษีดังกล่าว
รัฐมีรายได้เพิ่มปีละ1-2หมื่นล้าน
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส กล่าวว่า จากที่ภาครัฐต้องการจัดหาแหล่งรายได้ที่เพิ่มขึ้น จากที่มีภาระงบประมาณที่สูงขึ้น ซึ่งตัวเลือกหนึ่งในตลาดหุ้นคือ การเก็บCapital gains taxและภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งในปีนี้เป็นครั้งที่2 ที่มีข่าวจะเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะซึ่งจะเป็นการเก็บภาษีจากการขายหุ้นเหมือนกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เมื่อขายอสังหาฯจะถูกเก็บภาษี 3.3%ของมูลค่าการขาย
หากรัฐจัดเก็บภาษีขายหุ้นจริงในเบื้องต้นหากคำนวณรายได้รัฐจากการเก็บภาษีหลักทรัพย์ ในช่วงตั้งแต่ 1ม.ค.-14 ธ.ค.2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯมีมูลค่าซื้อขาย (คิดขาเดียว) รวม 20.5 ล้านล้านบาทเมื่อคูณอัตราภาษี 0.1% รัฐจะมีรายได้เพิ่มประมาณ 2.05 หมื่นล้านบาท และหากพิจารณาจากมูลค่าซื้อขายในอดีต พบว่า ส่วนใหญ่แล้วรัฐจะได้รายได้เพิ่มเกิน 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งขึ้นอยู่กับมูลค่าการซื้อขายแต่ละปี
หวั่นกระทบวอลุ่มเทรดหด
ทั้งนี้ การเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันตลาดหุ้นโลกลดลง เนื่องจาก ผลตอบแทนของการ Trading ลดลง จาก Transaction cost ที่สูงขึ้นมาก ทำให้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากทั้งนักลงทุนไทยและต่างประเทศได้ลดน้อยลง โดยเฉพาะจาก
นักเก็งกำไร และ ทำให้มูลค่าการซื้อขายหดตัวลง อาจส่งผลให้การเรียกเก็บภาษีในระยาวมีโอกาสลดลง
“ตราบที่มูลค่าซื้อขายในอนาคตยังคงลดลงต่อเนื่อง และมีผลลบต่อดัชนีหุ้นพอสมควรสะท้อนได้จากมีประเด็นนี้เข้ามาในวันที่ 7 ก.ค. 2564 ดัชนีก็ปรับฐานแรงเกือบ 50 จุดหรือราว -3% ภายในระยะเวลา 2 วันเท่านั้น (ตลาดหุ้นสหรัฐ-0.5% ในช่วงเวลาเดียวกัน) และอาจกดดันมูลค่าตลาด ให้หดหายไปมากกว่าภาษีที่รัฐอาจได้รับ”
ดังนั้นภาครัฐจะต้องช่างน้ำหนักให้ดี แต่เรามองว่าประเด็นดังกล่าวยังคงต้องรอความชัดเจนจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากเป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น แต่เชื่อว่าแนวคิดดังกล่าวน่าจะยังไม่นำมาใช้จริงในช่วงเวลาอันสั้น
นักลงทุนชี้ยังไม่ใช่จังหวะที่่เหมาะสม
นายนิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) หรือ วีไอ กล่าวว่า เวลานี้ยังไม่ใช่ช่วงเวลาเหมาะสมที่จะเก็บภาษีขายหุ้น เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมาจากวิกฤติโควิด-19 รวมถึงสภาพคล่องในตลาดหุ้นส่วนใหญ่ก็มาจากนักลงทุนรายใหญ่และนักลงทุนต่างชาติ
ปัจจุบันตลาดหุ้นก็เป็นช่องทางเดียวในการระดมทุนของภาคธุรกิจที่ต้องการเงินไปขยายธุรกิจให้เติบโต ขณะที่นักลงทุนสนใจลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นสะท้อนจากการที่บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอก็มีนักลงทุนสนใจจำนวนมาก ดังนั้น มองว่าควรจะรักษาข้อดีตรงนี้ไว้ก่อน ซึ่งหากความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทยในฐานะแหล่งลงทุนลดลง ผู้ที่จะเข้ามาระดมทุนผ่านตลาดหุ้นไทยก็เสียโอกาสได้รับเงินระดมทุนตามไปด้วย
เชื่อนักลงทุนไทยหันลงทุนต่างประเทศ
นอกจากนี้ มองว่าการเรียกเก็บภาษีขายหุ้นจะทำให้ความน่าสนใจและความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลดลง ส่งผลให้นักลงทุนในประเทศหันไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายและสะดวกแล้ว เพราะพัฒนาการด้านเทคโนโลยีต่างๆ
“หากมาเก็บภาษีจากการขายหุ้นตอนนี้คาดว่าอาจจะทำให้ตลาดหุ้นซบเซาและความน่าสนใจลดลง ซึ่งตอนนี้นักลงทุนจะเทรดตลาดที่ไหนของโลกก็ได้ และปัจจุบันนักลงทุนรายใหญ่เริ่มกระจายพอร์ตลงทุนออกไปในต่างประเทศแล้ว”
อย่างไรก็ตาม ตนไม่ได้คัดค้าน แต่มองว่าหากเป็นในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ตลาดเป็นช่วงตลาดขาขึ้นถ้าเป็นช่วงจังหวะเวลานั้นจะเก็บภาษีก็ไม่มีใครว่า แต่ตอนนี้ตลาดผันผวนลงทุนก็ทำได้ยาก
“เสี่ยป๋อง”แนะให้เวลานักลงทุนเตรียมตัว
นายวัชระ แก้วสว่าง หรือ“เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่กล่าวว่าส่วนตัวมองว่าปัจจุบันตลาดรับรู้เรื่องดังกล่าวไปพอสมควรแล้ว ดังนั้น หากมีการออกเป็นกฎหมายมาให้ทุกคนใช้เหมือนกันหมด ในส่วนตัวก็พร้อมที่จะปฏิบัติตาม แต่มองว่าหากจะจัดเก็บภาษีขายหุ้นจริงต้องแจ้งช่วงเวลาในการใช้งานล่วงหน้าให้นักลงทุนเตรียมตัวด้วย
“ส่วนตัวมองตลาดไม่น่าจะปรับตัวลงมาก คาดว่าจะเป็นระยะสั้นๆ เนื่องจากรับรู้ข่าวไปบ้างแล้วว่าจะมีการเก็บภาษีขายหุ้นดังกล่าวแน่นอน แต่การจะนำมาปฏิบัติควรจริงควรจะแจ้งให้นักลงทุนทราบก่อนล่วงหน้า” นายวัชระ กล่าว