จับตาประชุมรัฐสภา ถก "ร่างกม.ปรับโทษอาญาเป็นพินัย" พบมีกม.คุมม็อบ-ฟอกเงิน
ชวน นัดประชุมรัฐสภา 21 ธ.ค. ถก6เรื่องสำคัญ จับตาร่างกม.ที่รัฐบาลเสนอ เปลี่ยนโทษอาญา เป็นโทษทางพินัย เสียค่าปรับ พบกฎหมายที่เข้าข่ายเปลี่ยนโทษกว่า 200ฉบับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ทำหนังสือนัดประชุมร่วมรัฐสภาวันที่ 21 ธันวาคม เพื่อพิจารณาเรื่องในระเบียบวาระรวมทั้งสิ้น 6 เรื่องสำคัญที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ได้แก่ 1.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันมลพิษจากเรือ ค.ศ. 1973 ที่แก้ไขปรับปรุงโดยพิธีสาร ค.ศ. 1978 ภาคผนวก 5 ว่าด้วยกฎข้อบังคับสำหรับการป้องกันมลพิษจากขยะบนเรือ, 2.พิธีสารเพื่ออนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 11 ของบริการขนส่งทางอากาศ ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียน, 3.พิธีสารแก้ไขบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยว่าด้วยการขยายเส้นทางบิน
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า 4. ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... , 5.ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... และ 6.ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับนั้นเป็นกฎหมายซึ่งออกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 หมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ด้านกฎหมาย, ด้านกระบวนการยุติธรรม และการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนี้ในสาระของ ร่างพ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... มี 24 มาตรา กำหนดให้การขออนุญาต อนุมัติ จดทะเบียน รับจดแจ้ง รวมถึงการแจ้งผล จ่ายเงิน และรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่จะเว้นไม่ให้ใช้กับการจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ ขอจดทะเบียน สมรส หย่า รับบุตรบุญธรรม ขอมีบัตรประชาชน หนังสือเดินทาง
ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... มี12 มาตรา และมีสาระสำคัญ คือให้ 9 องค์กรที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม เช่น กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กรมพระธรรมนูญ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, คณะกรมการป้องกันและปราบปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เขียนกำหนดระยะเวลาการทำงานแล้วเสร็จเท่าที่จะทำได้ในการพิจารณาขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ เป็นแผนงาน รวมถึงตรวจสอบความคืบหน้าเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากความยุติธรรมที่รวดเร็วและสะดวก
ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. มี45 มาตรา และมีสาระสำคัญ คือ กำหนดความผิดลักษณะที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่ไม่ใช่ความผิดร้ายแรงและไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนอย่างร้ายแรง หรือไม่มีผลกระทบต่อส่วนรวมอย่างกว้างขวางให้เป็นความผิดทางพินัย ไม่ถือเป็นความผิดอาญา และกำหนดค่าปรับพินัยสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม
ทั้งนี้มีประเด็นสำคัญในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย คือ กำหนดให้พิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ได้แก่ ระดับผลกระทบ, ความรู้ผิดชอบ, อายุ , ประวัติ, ความประพฤติ ,สติปัญญา, การศึกษาอบรม , สุขภาพ, ภาวะแห่งจิต, ประโยชน์ที่ผู้กระทำผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำ รวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจของผู้ทำความผิด ทั้งนี้การชำระค่าปรับสามารถผ่อนชำระได้
ส่วนอายุความคดีความผิดพินัยนั้น กำหนดไว้ 2 ปี หากไม่ดำเนินการฟ้องจะถือว่าขาดอายุความ ทั้งนี้คดีความของความผิดทางพินัยไม่ให้บันทึกเป็นประวัติอาชญากรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. …. กำหนดให้มีบทเฉพาะกาล ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการ 1 คณะตามจำนวนที่เห็นสมควร เพื่อให้คำปรึกษา เสนอนแะเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และให้มีอายุทำงาน 5 ปี ทั้งนี้เมื่อครบ 5 ปี ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประเมินความจำเป็นของการมีอยู่ของคณะกรรมการดังกล่าว
นอกจากนั้นได้กำหนดบัญชีแนบท้ายพระราชบัญญัติ เพื่อกำหนดตัวกฎหมายที่ต้องเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียว ให้เป็นความผิดทางพินัยและให้ถืออัตราโทษปรับอาญาเป็นอัตราค่าปรับทางพินัย โดยตามบัญชีแนบท้ายดังกล่าวมีจำนวน พ.ร.บ. ทั้งสิ้น 176 ฉบับ อาทิ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558, พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562, พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551, พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530, พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าาด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2561, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542, พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ.2559 เป็นต้น
ทั้งนี้เป็นที่สังเกตว่าร่างกฎหมายที่เสนอแนบท้ายนั้น ก่อนหน้านี้เคยใช้ควบคุมการชุมนุมทางการเมืองและผู้เห็นต่างกับรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย
และกำหนดให้มีบัญชีแนบท้าย 2 กำหนดให้ พ.ร.บ. จำนวน 33 ฉบับ ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา หากจะเปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวเป็นทางพินัย และกำหนดบัญชีแนบท้าย 3 กำหนดให้ 3 กฎหมาย คือ กฎหมายป่าชุมชน พ.ศ.2562, กฎหมายเรือไทย พ.ศ.2481 และกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ที่กำหนดเป็นโทษทางปกครอง เป็นโทษตามพินัย เมื่อพ้น 360 วันที่พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ….บังคับใช้.