เบื้องหลังการรังสรรค์อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ รัชกาลที่ 9
พื้นที่ 279 ไร่ ภายในอุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นหมุดหมายสำคัญแห่งใหม่ของการหลอมรวมจิตใจคนไทย ร่วมกันสร้างอุทยานแห่งนี้ เพื่อรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9
อีกทั้งยังเป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอดพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี อันนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน วรรณพร พรประภา หนึ่งในคณะทำงานออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ภายใต้คณะอนุกรรมการอำนวยการก่อสร้างโครงการ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ พูดคุยกับสื่อมวลชนในวันที่มีการสัมภาษณ์ถึงพื้นที่ดังกล่าว
ริเริ่ม
"แนวความคิดการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เกิดขึ้นจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงพระราชทานที่ดินในพระปรมาภิไธย ขนาด 279 ไร่ หรือที่ทุกคนทราบดีว่าคือสนามม้านางเลิ้งในพื้นที่เดิม เพื่อให้ประชาชนสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณในหลวงรัชกาลที่ 9
อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายให้พื้นที่แห่งนี้สร้างประโยชน์แก่ประชาชน เป็นสวนสาธารณะ ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นแหล่งเรียนรู้แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อน้อมนำองค์ความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่า ดิน และน้ำสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน
ที่สำคัญที่สุด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ว่า พื้นที่แห่งนี้ยังมีประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเมืองใหญ่ๆ มักประสบปัญหาด้านมลพิษ ดังนั้นสวนสาธารณะแห่งใหม่นี้ จะช่วยบรรเทามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ดูดซับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีพื้นที่การใช้งานด้านนันทนาการ และกีฬาประเภทต่างๆ
พระบรมราโชบายด้านการออกแบบอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
“พระบรมราโชบาย เป็นแรงบันดาลใจให้ทีมคณะออกแบบ ซึ่งประกอบด้วยผู้คนมากมายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน แล้วแต่ว่าผู้ใดมีความถนัดในสาขาใด ช่วยกันศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ที่ทำงานในโครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือบุคคลที่มีประสบการณ์ที่เคยถวายงานในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในทุกศาสตร์ แม้แต่หนังสือหรือข้อมูลจากประชาชนในหลากหลายพื้นที่ กรณีศึกษาสวนสาธารณะ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญทั้งสิ้น”
รวมใจเป็นหนึ่ง
"เนื่องจากพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสถึงการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นสถานที่ให้เยาวชนมาเรียนรู้แนวพระราชดำริในอดีต นำมาใช้ประโยชน์กับชีวิตประจำวัน สืบสานและต่อยอดอนาคต เกิดความยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน พระบรมราโชบายดังกล่าว พระราชทานแก่คณะทำงานอีกด้วย คือการทำงานร่วมกัน เป็นทีมที่ใหญ่มาก แต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้เชิงภูมิสถาปัตย์ สถาปนิกจากหลายสาขา วิศวกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม แต่ละคนมีองค์ความรู้เฉพาะด้าน เพราะฉะนั้น การนำองค์ความรู้ของทุกฝ่ายมาพัฒนา หาจุดที่สมดุลย์เพื่อเกิดประโยชน์สูงสุด สมดังพระบรมราโชบาย ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก"
ลงมือดำเนินงาน
“อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินงานมาสามปีกว่าแล้ว เริ่มตั้งแต่ศึกษาข้อมูลภายใต้คณะอนุกรรมการฯ การออกแบบเริ่มจากการทำผังแม่บท กระทั่งได้ข้อสรุปจากความคิดเห็นของส่วนต่างๆ ปัจจุบันคณะทำงานเห็นภาพรวมอย่างชัดเจนแล้ว ต่อจากนั้นเป็นการลงรายละเอียดพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 งดงามสมพระเกียรติ
"งานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 มีคณะทำงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลป์ ออกแบบพระบรมรูปมีขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โอบล้อมด้วยป่าผสมผสาน มีช่องเปิดเพื่อเป็นร่องลมและเป็นแกนนำสายตา 9 แกน สามารถมองเห็นได้โดยรอบพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของสวนแห่งนี้
น้ำคือชีวิต
"ที่นี่มีการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งในการสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ คือน้อมนำพระราชดำริเกี่ยวกับ แนวคิดโครงการแก้มลิง มาเพื่อบรรเทาผลกระทบในกรณีฝนตกหนัก ทางโครงการจึงได้ออกแบบให้พื้นที่สามารถรับน้ำจากภายนอกเข้ามาพักรอในพื้นที่ได้ “เสมือนแก้มลิง” และเมื่อสถานการณ์อยู่ในจุดที่ควบคุมได้แล้ว จึงนำน้ำออกจากพื้นที่เพื่อเข้าสู่ระบบระบายน้ำตามปกติต่อไป ซึ่งวิกฤตฝนตกหนักมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
อีกทั้งอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯยังเป็นตัวอย่างการสะท้อนความสำคัญของน้ำกับชีวิตคน มีการบริหารจัดการน้ำที่เรียบง่ายและสอดคล้องกับธรรมชาติตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงมีการกักเก็บน้ำที่มีระบบหมุนเวียนรักษาคุณภาพน้ำ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลต้นไม้ในพื้นที่ ซึ่งประชาชนสามารถเรียนรู้แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้”
สัญลักษณ์รำลึกรัชกาลที่ 9
“พระบรมราโชบายพระราชทานข้อหนึ่ง คือเมื่อประชาชนเข้ามาในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ แล้วระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ทั้งที่เป็นสิ่งจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น การเรียนรู้แนวพระราชดำริ บ่อน้ำเลข 9 สะพานเลข 9 สะพานหยดน้ำพระทัย สะพานไม้เจาะบางกง ที่เคยเสด็จพระราชดำเนินไปนราธิวาสในปี 2524 ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความทรงจำของคนไทยเสมอมา”
ความสุขท่ามกลางธรรมชาติ
“กีฬาและนันทนาการ เป็นหนึ่งในพระบรมราโชบายที่ให้สถานที่แห่งนี้ มอบความสุขแก่ประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตด้วยการพักผ่อนและออกกำลังกาย การออกแบบในส่วนนี้ จึงคำนึงถึงคนในอนาคตด้วย เพราะว่าสวนแห่งนี้ไม่ได้อยู่แค่ ณ วันนี้ ซึ่งพื้นที่สำหรับกีฬา มีกีฬาทั่วไปที่ประชาชนนิยมในขณะนี้ โดยออกแบบให้มีมาตรฐาน เช่น เส้นทางจักรยานที่ไม่มีจุดตัด 3.5 กม. เส้นทางวิ่ง 3.5 กม.
มีกีฬาอื่นๆ ตามสมัยนิยมที่ประชาชนสามารถมาใช้งานในพื้นที่ได้ทุกเพศทุกวัย เช่น สเกตพาร์ค บาลานซ์ไบค์ บาสเก็ตบอล หรือกีฬาสำหรับคนมีอายุ เช่น ชี่กง โยคะ ซึ่งโปรแกรมยังพัฒนาส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม โดยหลักการคือเราเว้นพื้นที่ออกแบบที่สามารถปรับยืดหยุ่นได้ ตามความต้องการความนิยมของประชาชนเป็นหลัก แต่ยังให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยภายในสวนแห่งนี้ โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วยเหลือประชาชน หากเกิดออกกำลังกายแล้วมีปัญหาด้านสุขภาพ ระบบจะแจ้งเตือนอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับความรื่นรมย์ในการใช้งาน
พันธุ์ไม้รวมใจคนไทยทั้งแผ่นดิน
"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายด้านต้นไม้ในสถานที่แห่งนี้ ว่าปลูกจากต้นกล้าเพราะจะเป็นไม้หนุ่มสาว ซึ่งเอื้อต่อระบบรากที่แข็งแรง อีกทั้งต้นไม้จะเป็นสิ่งสะท้อนความเป็นป่าและความหลากหลาย ผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน อาทิ นักพฤกษศาสตร์ นักวิชาการพืชสวน ให้ความรู้ว่า ต้นไม้ที่ปลูกในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นต้นไม้เติบโตดีในภาคกลาง เพราะคำนึงการดูแลในอนาคตต้องเป็นไปอย่างยั่งยืน มีบางอย่างที่เราปลูกไว้เพื่อการศึกษา เช่น ต้นไม้ประจำจังหวัด 77 จังหวัด ให้ความหมายสื่อถึงการหลอมรวมเป็นประเทศไทย
มีพันธุ์ไม้บางชนิด เป็นต้นไม้เชิงสัญลักษณ์ทางด้านจิตใจ รำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ต้นไม้ที่เราคุ้นตา เช่น ต้นยางนา ต้นไม้ที่มีดอกสีเหลือง นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้เกี่ยวกับพระราชดำริเรื่องการบริหารการจัดการน้ำที่ยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำโดยเน้นกักเก็บความชุ่มชื้นของดิน การจำลองฝายชะลอน้ำ
ส่วนบริเวณกลางน้ำ เป็นเรื่องกักเก็บน้ำ เพื่อรองรับ ชะลอน้ำใช้งานด้านการเกษตร เพราะฉะนั้น เรื่องต้นไม้ที่ปลูกในอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ บางส่วนจัดแสดงแนวพระราชดำริ ป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง มีทั้งไม้ใช้สอย ไม้โตเร็ว ไม้เศรษฐกิจ ไม้รับประทาน ประโยชน์ด้านกักเก็บน้ำ มีพืชที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ เช่น พืชกรองน้ำชนิดต่างๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้พื้นที่แห่งนี้เป็นปอดของกรุงเทพมหานคร โดยมีนักวิชาการให้ข้อมูลว่ามีพืช มีคุณสมบัติกรองฝุ่น PM 2.5 คาร์บอนไดออกไซด์ โดยเน้นปลูกต้นไม้ที่มีใบขรุขระ เพื่อให้ฝุ่นละอองเกาะที่ใบ ลดปริมาณการฟุ้งในอากาศ หรือคุณสมบัติด้านกันเสียงด้วยวิธีธรรมชาติ
มีท่านผู้เชี่ยวชาญให้ความคิดว่า จริงๆ แล้วเรื่องคลื่นเสียงในเมืองใหญ่ ถ้าเราปลูกต้นไม้ที่มีใบหนาจะช่วยป้องกันคลื่นเสียงชั้นสูงจากภายนอกได้ในระดับหนึ่งด้วย โดยต้นไม้จะกระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ตามความเหมาะสม รวมทั้งมีต้นไม้ในวรรณคดี ปลูกใกล้กับเส้นทางอาคารโบราณที่เราเก็บรักษาไว้ โดยมีทีมสถาปนิกเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อาคารทั้งสี่หลัง ได้แก่ อาคารโรงเรียนสำหรับหัดขี่ม้า อาคารเรือนเจ้ากรมพระอัศวราชซึ่งเดิมเป็นอาคารอำนวยการล้วนมีสถาปัตยกรรมงดงามมาก และอาคารเรือนข้าราชบริพารอีกสองหลัง ตอนนี้ คณะทำงานก็กำลังทำการศึกษาที่เกิดประโยชน์สูงสุด"
ความคืบหน้าล่าสุด
"อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ จะสำเร็จเป็นรูปธรรมตามแผนของคณะทำงาน ประมาณปี 2567 ซึ่งการพัฒนาเราเน้นการสร้างปัจจัยพื้นฐานอย่างยั่งยืน บางพื้นที่มีการเว้นเพื่อปรับปรุงในอนาคตทำคู่ขนานไปกับการก่อสร้าง ณ วันนี้ ในพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์แท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี โดยเสด็จในการนี้ด้วย ภายในพิธีนั้น มีการจัดแสดงนิทรรศการอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรด้วยความสนพระราชหฤทัย คณะทำงานทุกคนปลื้มใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
สำหรับดิฉัน นับตั้งแต่วันที่มีโอกาสทำงานนี้เมื่อสามปีก่อน ยิ่งได้ศึกษาแนวพระบรมราโชบาย เรื่องราวต่างๆ ยิ่งได้เรียนรู้จากหลากหลายผู้คน ทั้งที่เป็นผู้ถวายงาน ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ กระทั่งไปดูโครงการในพระราชดำริในหลายสถานที่ทั่วประเทศ อีกทั้งหลายภาคส่วน เมื่อทราบข่าวว่ามีโครงการนี้เกิดขึ้น ก็ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า เราโชคดีที่เกิดเป็นคนไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ห่วงใยประชาชนมากขนาดนี้ ทรงครองแผ่นดินเพื่อจุดมุ่งหมายเดียว คือประโยชน์สุขของประชาชน ดังนั้นการที่ได้สัมผัส ได้รับรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อชาวไทยทุกคน จึงเป็นแรงบันดาลใจให้คณะทำงานทุกคน ทำงานที่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังค่ะ"