บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดโผ 3 ธีมลงทุนเด่นปี 2565
บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิด3 ธีมลงทุนเด่นปี 2565 ธีมฟื้นตัวจากภายใน -กำไรที่แข็งแกร่ง-การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี คาดเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว มองหุ้นโตต่อเนื่อง
นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า โลกในปี 2565 จะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ Covid-19 ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการกลายพันธุ์ของเชื้อล่าสุดมาเป็นสายพันธุ์โอมิครอน มีความเป็นไปได้ถึงการปรับตัวของเชื้อโรค ซึ่งมีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นแต่มีระดับความรุนแรงของโรคที่ลดลง สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือประสิทธิภาพของวัคซีนในการรับมือต่อเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกสามารถกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างปกติ เชื่อว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะยังคงดำเนินต่อไป และสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นก็จะให้ผลตอบแทนที่ดีต่อเนื่องในปี2565
สำหรับการลงทุนในปี 2565 ได้แนะนำธีมที่น่าสนใจลงทุน 3 ธีม ประกอบด้วย
ธีมฟื้นตัวจากภายใน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นเวียดนาม และตลาดหุ้นจีน A-shares ซึ่งการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ จะเป็นปัจจัยผลักดันหลักต่อการขยายตัวในปี 2565 สำหรับตลาดหุ้นเวียดนาม โครงสร้างประชากรและการขยายของขอบเขตเมือง (Urbanization) ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเจริญเติบโตระยะยาวของประเทศจะเป็นแรงหนุนสำคัญให้การบริโภคภายในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ภายหลังการระบาดของโควิดระลอกล่าสุด ในขณะที่ตลาดหุ้นจีน A-shares ที่มีการชะลอตัวลงไปในปี 2565 จากการลดสภาพคล่องของธนาคารกลางจีน และการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ซึ่งเรามองว่ามูลค่าพื้นฐานของตลาดหุ้นจีน A-shares ได้ปรับลดลงมาจนอยู่ในระดับที่น่าสนใจแล้ว โดยในระยะถัดไป ความคาดหวังต่อเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะเป็นปัจจัยผลักดันการฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีน แม้การระบาดของสายพันธุ์ Omicron ที่ทำให้รัฐบาลจีนยังต้องดำเนินนโยบายปิดประเทศต่อไป แต่กำลังซื้อของประชาชนในประเทศที่มีจำนวนมหาศาลจะทำให้การบริโภคในประเทศเติบโตได้ต่อเนื่อง
ธีมกำไรที่แข็งแกร่ง ที่เน้นการเติบโตอย่างแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่รัฐบาลยังคงมีอีกหลายปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องจากการใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่ ขณะที่ความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีนิติบุคคลก็หายไป ภายหลังข้อเสนอการปฏิรูปภาษีที่มีเพียง Foreign Tax และการพิจารณาเก็บภาษีจากคนรวยแทน ทำให้บริษัท Tech ในสหรัฐฯ มีการคาดการณ์กำไรที่ดีขึ้นในปี 2022 นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจในแง่ของการฟื้นตัวจาก COVID-19 ตามสหรัฐฯ และมีแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากวงเงินช่วยเหลือ COVID-19 (EU Recovery Fund) ที่ยังมีเม็ดเงินคงเหลือให้เบิกจ่ายอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ หุ้นกลุ่ม Growth ของทั้งสองตลาด มีการขยายตัวของอัตรากำไรอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น แต่ด้วยระดับ Margin ที่มีอยู่สูง จะเป็นปัจจัยรองรับที่ทำให้การเติบโตของกำไรโดยรวมสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อไปได้
ธีมการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกขณะท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม สภาพเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น Robotics เป็นเทคโนโลยีที่เพิ่มขีดจำกัดความสามารถของมนุษย์ ซึ่งใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการบริการ ทั้งนี้ คาดว่าในช่วงปี 2021 – 2025 การเติบโตของอุตสาหกรรม Robotic จะขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 10% ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (5G) ในส่วนของภาคบริการการลงทุนใน Robotics ก็มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการระบาดของ COVID-19 และการใช้มาตราการการเว้นระยะห่างทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนมีการปรับตัวโดยนำ Robotics เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น และอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจลงทุนก็คือ Semiconductors เนื่องจากตลาด Memory Chips ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะเป็นชิ้นส่วนสำคัญของการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายประเภท อีกทั้งยังได้ถูกนำมาใช้ในโครงข่าย Wireless, 5G, Internet of Thing, ด้านการแพทย์ และด้านการทหาร โดย Citibank คาดการณ์ว่ารายได้จาก Semiconductors ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยประมาณ 7.3% ต่อปี ระหว่างปี 2020 - 2024 นอกจากนี้ ปัญหา Global Supply Disruption คาดว่าจะเริ่มมีแนวโน้มผ่อนคลายลงหลังจากหลายประเทศทั่วโลกเริ่มกลับมาเปิดเมือง ส่งผลให้ผู้ผลิต Semiconductor กลับมาผลิตและส่งออกชิ้นส่วนได้เพิ่มขึ้นในปี 2565
นางนันท์มนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ภาพรวมตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในปีหน้า แต่ควรให้ความระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีอายุยาว เนื่องจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะเป็นแนวโน้มขาขึ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น กดดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยตาม อย่างไรก็ตาม ยังมองว่าการลงทุนในตราสารหนี้ยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี และช่วยกระจายความเสี่ยงในการลงทุนนอกเหนือจากการลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว โดยแนะนำลงทุนใน Short-duration High Yield Bond ซึ่งมีผลตอบแทนส่วนเพิ่มจาก Credit Spread ที่สูงกว่าตราสารหนี้ภาครัฐ ในขณะที่เน้นอายุเฉลี่ยที่สั้นมาก ในส่วนของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งน้ำมันและทองคำนั้น จากสภาพคล่องในระบบที่ลดลงจะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีโอกาสปรับขึ้นอย่างจำกัด โดยเฉพาะทองคำที่เป็นสินทรัพย์ไม่มีผลตอบแทนจากกระแสเงินสด และด้วยสภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ทองคำมีความน่าสนใจลดลง อย่างไรก็ตาม การจัดสรรเงินลงทุนบางส่วนกระจายการลงทุนไปในทองคำก็สามารถช่วย Hedge พอร์ตการลงทุนได้ดีหากเกิดเหตุการณ์ Risk off
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาในระยะข้างหน้า ได้แก่ การแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธ์ใหม่ที่อาจเกิดความรุนแรง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลถึงการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าที่คาด อีกทั้งเรื่องของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (Antitrust laws) และการเจรจาทางการค้าในสหรัฐฯ และจีน เป็นต้น