ในหลวง-ราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลเฝ้าฯ
ในหลวง-ราชินี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลเฝ้าฯ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต
วันนี้ (28 ธ.ค.64) เวลา 16.54 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ตามลำดับดังนี้
นายชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสนี้ นางสมฤดี ธัญญสิริ รองเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง และนางสาวสุรางคณา หิรัญวัฒนสิน ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครอง ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
ศาสตราจารย์เกียรติยศ นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร นำนักการสาธารณสุขดีเด่น ประจำปี 2564 เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรางวัลชัยนาทนเรนทร ดังนี้
นายแพทย์อุทัย สุดสุข นักการสาธารณสุขดีเด่นประเภทบริหาร
นายแพทย์สมจิตต์ ชี้เจริญ นักการสาธารณสุขดีเด่นประเภทบริการ
แพทย์หญิงนฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นักกาiสาธารณสุขดีเด่นประเภทวิชาการ
นายสมร สอนจันทร์ นักการสาธารณสุขดีเด่นประเภทผู้นำชุมชน
นายนฤชิต แสงเทียนท์ นักการสาธารณสุขดีเด่นประเภทประชาชน
ในโอกาสนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกับคณะกรรมการมูลนิธิสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และคณะกรรมการรางวัลชัยนาทนเรนทร ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย
ต่อมา นายแพทย์สมยศ ดีรัศมี ประธานมูลนิธิกาญจนบารมี พร้อมกรรมการและที่ปรึกษาของมูลนิธิ ฯ นำผู้บริหารการท่าเรือแห่ประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง 2 มิติ (2D Full Field Digital Mammography) พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 1 คัน ในโอกาสครบ 70 ปี การท่าเรือแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2564 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ดังกล่าวแก่มูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ และโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี
มูลนิธิกาญจนบารมี เป็นมูลนิธิที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2540 เพื่อสนับสนุนการทำงานของโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ที่สนับสนุนการป้องกันโรคมะเร็งภายในประเทศ และต่อมา ด้วยทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของการเข้าถึงบริการการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมของสตรีทั่วไป จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มูลนิธิ ฯ
จัดทำโครงการ “คัดกรองมะเร็งเต้านมเคลื่อนที่ด้วยเครื่องเมมโมแกรม ให้กับสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาสในชนบททั่วประเทศ” ตั้งแต่พุทธศักราช 2557 เป็นต้นมา ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในสตรีทั่วโลก
สาเหตุของการเกิดโรคยังไม่สามารถระบุชี้ชัดได้ แต่มักเกิดขึ้นโดยสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงอื่น ได้แก่ อายุที่มากขึ้นบุคคลในครอบครัวมีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน รวมถึงการมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย ในการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุด คือ การค้นหาหรือวินิจฉัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะสามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้เกือบทั้งหมด ซึ่งมีวิธีการค้นหาได้ 2 วิธี ประกอบด้วย
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านมแบบเมมโมแกรม รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ประสิทธิภาพสูง 2 มิติ (2D Full Field Digital Mammography) นี้ ประกอบด้วย
เครื่องเอกซเรย์เต้านมระบบดิจิทัลประสิทธิภาพสูง 2 มิติ สามารถมองเห็นภาพเนื้อเยื่อ และความผิดปรกติของเต้านมได้อย่างชัดเจน และเครื่องอัลตราซาวด์ ชนิดสี ความถี่สูงขนาดใหญ่ สามารถค้นหารายละเอียดความผิดปรกติของเต้านมเพิ่มเติมได้เป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งระบบพิเศษ ได้แก่ ติดตั้งโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ “เอไอ” (AI) ช่วยค้นหาและชี้เป้าความผิดปรกติของเต้านมแก่แพทย์ผู้ตรวจ ติดตั้งระบบจัดเก็บและระบบรับส่งข้อมูลภาพเต้านมไว้ที่ระบบคลาวด์ เซิร์ฟเวอร์ (Cloud Server) ผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต ระบบ 5G เพื่อให้แพทย์สามารถดึงข้อมูลภาพมาดูได้ตลอดเวลา และติดตั้งลิฟต์ สำหรับยกเก้าอี้ล้อเข็นผู้พิการและผู้สูงอายุ ให้ขึ้นตรวจบนรถได้โดยไม่ต้องขึ้นบันได เพื่อให้สามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่าย