โฟกัสแผนส่งออกปี 65 ดันส่งออกขยายตัวตามเป้า 3-4 %
พาณิชย์ เปิดแผนดันส่งออก ปี 65 ทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ ค้าขายออนไลน์ จัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก งานแสดงสินค้า พร้อมเร่งทำเอฟทีเอ เปิดทางสินค้าไทยไช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
การส่งออกของไทยในปี 65 ยังเป็นขาหลักในการช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้เติบโต หลังเครื่องจักรสำคัญโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธฺเดลต้า แถมยังถูกซ้ำด้วยโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอนที่กำลังมีแนวโน้มของผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นทุกวันทั่วโลก ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์ซึ่งวางเป้าการส่งออกไว้ที่ 3-4 % จึงไว้วางแผนจัดกิจกรรมเพื่อผลักดันการส่งออกของไทยตลอดทั้งปี 65
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 แต่ภายหลังที่สถานการณ์คลี่คลายลงการส่งออกของไทยก็เริ่มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ ทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และด้วยนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่มอบให้กับราชการและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ. พาณิชย์)เพราะส่งออกเป็นขาหลักที่จะต้องช่วยประเทศชาติในภาวะวิกฤต
แผนงานสำคัญ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพผู้ประกอบการ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (ไฮบริด) ให้การทำงานภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนต่างๆ สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (OBM) ร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทย เช่น Tmall Global (จีน) Amazon (สหรัฐฯ) BIG Basket (อินเดีย) จัดงานแสดงสินค้า Mirror-Mirror จัดงานแสดงสินค้ารูปแบบไฮบริด ซึ่งปี 65 ก็จะเน้นทำอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย (Trust Thailand) สร้างความเชื่อมั่นสินค้าไทย เน้นกลุ่มสินค้าที่มีโอกาสสูงในช่วงโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าอาหาร ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก สร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารไทย
ไฮไลท์สำคัญคือ การเจาะตลาดเมืองรอง ที่นายจุรินทร์ได้สั่งการโดยมีป้าหมายขยายความสัมพันธ์ทางการค้า มีการลงนาม MOU หรือ Mini FTA กับเมืองและมณฑลของประเทศเป้าหมาย ได้แก่ จีน (ไห่หนาน)และญี่ปุ่น (โคฟุ) ไปแล้ว ซึ่ง ปี 65 มีแผนกิจกรรมที่จะสร้างโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน โดยในส่วนของไห่หน่านนั้นจะมีการจัดงาน Top Thai Brand ไห่หนาน ซึ่งจะเป็นการยกทัพสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกของไทยไปร่วมจัดแสดงในงาน Hainan Expo เป็นต้น และ มีแผนที่ทำมินิเอฟทีเอกับอีกหลายเมืองที่เห็นว่ามีศักยภาพ เช่น เกาหลี เพื่อผลักดันการส่งออกของไทย
ขณะที่ทูตพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัด ก็ยังต้องทำหน้าที่เป็นนักการตลาดหรือเซลล์แมน เชื่อมโยงการทำงานกันในการส่งเสริมสินค้าจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลก (Local to Global) ผ่านโครงการ “Young Exporter from Local to Global”
นอกจากแผนงานการเจาะตลาดเมืองรองแล้ว นโยบายหลักจะสานต่อ 14 แผนงานเดิมที่เคยประกาศไว้เมื่อปี 64 และจะเพิ่มแผนงานใหม่ เน้นการดูแลประชาชน สนับสนุนภาคธุรกิจและภาคการส่งออก ภายใต้แนวทาง "เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด"
มีแผนงานใหม่ๆ ที่จะเน้นเพิ่มเติม เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริม SMEs วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และเกษตรกรการส่งเสริมการบริโภคผลิตภัณฑ์ไทย สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมจูงใจให้ใช้ผลิตภัณฑ์ไทย สร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์ไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เช่น ส่งเสริมและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดออนไลน์ พัฒนาผู้ประกอบการให้ใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม และการค้าออนไลน์ การส่งเสริมสินค้า BCG ส่งเสริมการพัฒนาและส่งออกสินค้า BCG และการปรับตัวของผู้ประกอบการไทยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าอย่างยั่งยืน
ด้านแผนการส่งเสริมการส่งออก ทางกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ กำหนดกิจกรรม 159 เป็นกิจกรรมเพื่อผลักดันการส่งออก โดยกิจกรรมภายในประเทศ 74 กิจกรรม ที่เหลือเป็นต่างประเทศในแต่ละตลาด เช่น ยุโรปและกลุ่มประเทศCLS 16 กิจกรรม ,จีน 13 กิจกรรม,อาเซียน 10 กิจกรรม,อเมริกาเหนือ 7 กิจกรรม ,เอเชียตะวันออก 7 กิจกรรม,ตะวันออกกลาง 6 กิจกรรม,เอเชียใต้ 7 กิจกรรม,ลาตินอเมริกา 1 กิจกรรม ,แอฟริกา 1 กิจกรรม ,ภูมิภาคอื่นๆ 19 กิจกรรม
นอกจากนี้ จะเร่งรัดเจรจา FTA ที่ค้างอยู่ ซึ่งในส่วนนี้ก็ช่วยเรื่องผลักดันสินค้าไปยังตลาดโลกมากขึ้น อาทิ ไทย-ปากีสถาน; ไทย-ตุรกี; ไทย-ศรีลังกา และในปี 2565 จะเจรจา FTA เพิ่มเติม คือ 1.ไทย-EU 2.ไทย-EFTA 3.ไทย-สหราชอาณาจักร 4.ไทย-สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย และ 5.อาเซียน-แคนาดา