"ผู้ตรวจการแผ่นดิน" เผยสถิติปี 64 ยอดร้องเรียนพุ่ง-3กรม "มท." แชมป์ถูกร้อง
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แจงสถิติรับเรื่องร้องเรียนทั่วประเทศรวมทุกช่องทาง กว่า 10,000 เคส เผย5หน่วยงานถูกร้องสูงสุด
นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่า สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมีสถิติให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทางโทรศัพท์สายด่วน1676 และช่องทางดิจิทัล มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 9,304 เรื่อง แบ่งเป็น เรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วน 6,313 เรื่อง , ให้คำปรึกษาและแนะนำ จำนวน 3,390 เรื่อง, ติดตามเรื่องร้องเรียน จำนวน 2,852 เรื่อง และ ดำเนินการประสานแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้กับผู้ร้องเรียน จำนวน 52 เรื่อง
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวด้วยว่าสำหรับ 5 อันดับ หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนสูงสุด คือ 1.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง การให้บริการสาธารณูปโภค และการบุกรุกที่ดินสาธารณะ , 2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เกี่ยวกับปัญหาการดำเนินคดี และพฤติกรรมเจ้าหน้าที่ไม่เหมาะสม, 3.กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ ถูกร้องเรียนเรื่องดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบเรื่องร้องเรียน รวมถึงการดำเนินการจดทะเบียนต่าง ๆ ให้กับประชาชนล่าช้า ปัญหาการให้บริการสาธารณูปโภค และพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวต่อว่า 4.กรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนล่าช้า ปัญหาการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ การให้บริการด้านสาธารณูปโภค และ 5. กรมที่ดิน เรื่อง การออกโฉนดที่ดิน, รังวัดที่ดิน, การโอนที่ดิน พฤติกรรมเจ้าหน้าที่ ปัญหาการจัดสรรที่ดิน และปัญหาการบุกรุกที่ดิน
"เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับเรื่องร้องเรียนยึดหลักการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนแบบกัลยาณมิตร ไม่ได้มุ่งเน้นใครผิดใครถูกแต่เน้นการแก้ไขปัญหา หาความร่วมมือและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดความสามัคคีและความผาสุกระหว่างหน่วยงานรัฐและประชาชนมากกว่า" ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปี 2565 ผู้ตรวจการแผ่นดินจัดตั้ง ทีมตรวจสอบและปฏิบัติการเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน สำหรับ โดยเรื่องร้องเรียนจะต้องอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งทีมตรวจสอบและปฏิบัติการเร่งด่วนสามารถลงพื้นที่ได้ทันที และกำหนดเวลาการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชม. หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน 1 สัปดาห์.