"ลูกหมู" ราคาพุ่ง มีไม่พอขาย ชาวบ้านแย่งกันซื้อ
โอกาสทอง! เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย หลังราคาหมูแพง ความต้องการซื้อ "ลูกหมู" พุ่ง เลี้ยงหวังขายราคาดี แต่แบกภาระต้นทุนหัวอาหาร
ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสุกรบ้านเกาะปราง หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง นายประยวด สุขดำ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ต.หนองปรือ อ.รัษฎา และเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสุกรบ้านเกาะปราง กล่าวว่า ในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 20 คน โดยกระจายกันเลี้ยง ในส่วนของตนเองมีแม่พันธุ์อยู่จำนวน 10 ตัว
ขณะนี้มีลูกสุกร หรือ "ลูกหมู" อายุ 40 วัน อยู่จำนวน 14 ตัว ซึ่งขณะนี้มีคนจองทั้งหมดแล้ว โดยจำหน่ายในราคาตัวละ 2,500 บาท ก่อนหน้านี้เคยจำหน่ายในราคาตัวละ 2,000 บาท ซึ่งคนที่ซื้อส่วนใหญ่จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องการจะเอาไปเลี้ยงขุน เพื่อส่งขายเป็นสุกรชำแหละ ซึ่งขณะนี้ราคาสูงมาก
โดยขณะนี้ลูกสุกรมีไม่พอจำหน่าย เพราะความต้องการสูงมากขึ้นกว่า 40% โดยมีบางคนที่ต้องการเลี้ยงมาสอบถามอยู่ตลอดเวลาว่า แม่สุกรจะตกลูกอีกเมื่อไร เพราะต้องการซื้อ โดยแม่สุกร เมื่อผสมพันธุ์แล้วใช้เวลาประมาณ 4 เดือน หรือประมาณ 114 – 119 วัน ก็จะตกลูก หลังจากนั้นประมาณ 45 วัน ก็สามารถขายเป็นลูกสุกรได้ดังกล่าว
แต่ส่วนตัวก็จะต้องเก็บไว้บางส่วน เพื่อจะนำไปขุนเอง และเมื่อขุนได้ขนาด จะถูกนำไปส่งให้กับพ่อค้าเขียงหมู ซึ่งจะเป็นผู้ที่นำอาหารหมูมาขายให้แก่เกษตรกร และจะรับซื้อลูกสุกรขุนที่พวกตนเลี้ยงกลับไปทั้งหมด ทำให้เกษตรกรไม่ต้องมีปัญหาเรื่องของการตลาด แถมช่วงนี้ยังทำให้ราคาหมูหน้าฟาร์มพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา จนล่าสุดถึงกิโลกรัมละ 90 บาทแล้ว ซึ่งไม่เคยมีราคาที่ดีเช่นนี้มาก่อนเลย ซึ่งขณะนี้มีสุกรขุนอยู่ในฟาร์มจำนวน 50 ตัว รอทยอยส่งขายให้พ่อค้าแม่ค้าเขียงหมู
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกษตรกรรู้สึกกังวลก็คือ ราคาอาหารหมูหรือหัวอาหารที่ปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ ครั้งละ 10 บาทต่อกระสอบ รวมประมาณ 4 ครั้งแล้ว นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 และล่าสุดที่ปรับขึ้นก็คือ เมื่อช่วงต้นปี 2565 ต่างไปจากเมื่อก่อนที่นานๆ ราคาอาหารหมูจะปรับขึ้นสักครั้ง โดยทางผู้ผลิตอ้างว่าเกิดจากวัตถุดิบขาดแคลน โดยราคาอาหารจะมีทั้งหมด 5 ขนาด
เริ่มจากขนาดเล็กจะแพงสุดไปจนถึงสุกรขุนจนส่งขายได้ โดยมีราคากระสอบละ 790 บาท ,700 บาท ,570 บาท , 500 บาท และ 480 บาท โดยในระยะเวลาประมาณ 7 เดือน ทำต้นทุนอาหารเพิ่มขึ้นมาประมาณ 30% โดยสุกร 1 ตัว กินอาหารประมาณ 7 กระสอบ โดยต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 40% เพราะแม้จะไม่ต้องซื้อลูกสุกร แต่ต้องเลี้ยงแม่พันธุ์ไว้ขยายพันธุ์เอาลูก ซึ่งแบกรับต้นทุนค่าอาหารที่แพงขึ้น