เช็ค 2 ช่องทางรับแจ้งผู้ป่วย หลังตรวจ ATK ติด "โควิด" ในกรุงเทพฯ
กทม.เตรียมแผนรับมือ "โควิด" สายพันธุ์โอมิครอนระบาด พร้อมเช็ค 2 ช่องทางรับแจ้งผู้ป่วย หลังตรวจ ATK ติด "โควิด" ในกรุงเทพฯ
วันที่ 13 ม.ค. ที่ห้องนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมด้วย นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย ร่วมแถลงข่าวออนไลน์ ถึงการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า วันนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ 790 ราย เป็นคนไทย 747 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม447,098 ราย จากสถิติวันที่ 1-12 ม.ค. 65 เวลา 16.00 น. โดยมีผู้ป่วยโควิดเข้าสู่ระบบ HI จำนวน 1,021 ราย และเข้าสู่ระบบ CI จำนวน 41 ราย ส่วนจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 9,289,883 ราย คิดเป็น 120.66% และได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน8,594,291 ราย คิดเป็น 111.63%
"นอกจากโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 11 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งแล้ว กทม.ได้ร่วมกับสถานพยาบาลของภาครัฐ สถานพยาบาลเอกชน และหน่วยงานต่างๆ ในการขยายจุดให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนมากที่สุด ปัจจุบันมีมากกว่า 100 แห่งทั่วพื้นที่50 เขต ซึ่งประชาชนสามารถลงทะเบียนขอรับวัคซีนได้ทั้งเข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มกระตุ้น ได้ทางแอปพลิเคชัน QueQ โดยการให้บริการวัคซีนนั้นจะเป็นไปตามสูตรที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด"ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กทม.ยังได้เร่งตรวจหาและคัดกรองผู้ติดเชื้อโควิดทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ที่ผ่านมาได้มีการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานที่เสี่ยงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ตลาด แคมป์คนงาน สถานประกอบการที่มีความเสี่ยง เป็นต้น โดยตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.64 ถึงวันที่ 12 ม.ค.65 มีการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุก ด้วยชุดตรวจ ATK ทั้งหมด678,845 ราย พบผู้ติดเชื้อ 58,979 ราย คิดเป็น 8.69%
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า สำหรับวันที่ 12 ม.ค.65 มีการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกใน 20 แห่ง ตรวจ ATK จำนวน 2,481 ราย พบติดเชื้อโควิดจำนวน 46 ราย คิดเป็น 1.85% ซึ่งเป็นจำนวนไม่สูงมาก แต่ กทม.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้โดยเฉพาะหากมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอน กทม.ได้เตรียมศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อจำนวน 41 แห่ง
"เนื่องจากเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน จะมีอาการไม่รุนแรง ในเบื้องต้นจึงได้เน้นให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการไม่รุนแรงแยกกักหรือพักรักษาอาการที่บ้าน (HI)"ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
"สำหรับศูนย์พักคอยฯ 41 แห่ง มีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิดรวม 5,116 เตียง เปิดให้บริการ 25 แห่ง รวม 3,304 เตียง อยู่ระหว่างดำเนินการเปิดให้บริการ 16 แห่ง รวม 1,812 เตียง ปัจจุบันข้อมูลวันที่ 12 ม.ค. มีผู้ครองเตียง 239 ราย คงเหลือ 4,877 เตียงนอกจากนี้ยังมีโรงพยาบาลสนามประจำกลุ่มเขต จำนวน 8 แห่ง รวม 1,660 เตียง เปิดให้บริการ 3 แห่ง รวม 640 เตียง Standby mode พร้อมเปิดบริการ 5 แห่ง รวม 1,020 เตียง ครองเตียง 179 ราย คงเหลือ 1,481 เตียง"ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากประชาชนตรวจหาเชื้อโควิดด้วยตนเองจากชุดตรวจ ATK แล้วพบว่าผลการตรวจออกมาเป็นบวกติดเชื้อ ให้ติดต่อสายด่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โทร. 1330 กด 14 หรือไลน์ @สปสช ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกรณีฉุกเฉินสามารถแจ้งได้สายด่วนศูนย์เอราวัณ โทร. 1669 กด 2
"หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจะทำการประเมินอาการหากไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยจะให้ผู้ติดเชื้อทำ Home Isolation (HI) แยกกักและพักรักษาตัวที่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่จะจัดส่งสิ่งของ อุปกรณ์จำเป็น และเวชภัณฑ์ ภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงมีตรวจประเมินสุขภาพด้วย Telemonitor ทุกวัน อาทิ วัดอุณหภูมิร่างกาย (Thermometer) วัดความดัน (Blood Pressure) วัดระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximeter)"ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวด้วยว่า หากผู้ติดเชื้อไม่สามารถทำ HI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะนำเข้าสู่ระบบการรักษาที่ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ(Community Isolation : CI) ที่ภาครัฐจัดไว้สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยในชุมชน หากผู้ป่วยโควิดอาการดีขึ้นก็กลับบ้านได้ แต่หากอาการรุนแรงหรือหนักขึ้นก็จะส่งต่อการรักษาไปยัง Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการต่อไป ส่วนผู้ที่ได้รับการประเมินอาการแล้วมีอาการปานกลางหรือมีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีอาการหนักขึ้น ไม่สามารถทำ HI หรือ CI ได้ เจ้าหน้าที่ก็จะส่งเข้าระบบการรักษา Hospital โรงพยาบาลสนาม หรือโรงพยาบาลหลัก ตามอาการให้เร็วที่สุดเบื้องต้นกำหนดไว้ไม่เกิน 12 ชั่วโมง