ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งออกข้าวไทย 1,000 ตัน ผ่าน “รถไฟจีน-ลาว” ถึงฉงชิ่ง

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งออกข้าวไทย 1,000 ตัน ผ่าน “รถไฟจีน-ลาว” ถึงฉงชิ่ง

“จุรินทร์-เฉลิมชัย” ร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งออกข้าวไทยล็อตแรก 1,000 ตันโดย “รถไฟสายจีน-ลาว” ถึงมหานครฉงชิ่งในภาคตะวันตกของจีนสำเร็จเป็นครั้งแรก “อลงกรณ์” ชี้เป็นศักราชใหม่ของอีสานเกตเวย์ ตั้งเป้าหมายต่อไปส่งออกยางพารา ผลไม้ กล้วยไม้ สินค้าประมงและปศุสัตว์

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (20 ม.ค.) ว่า ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวสาร จำนวน 20 ตู้ ปริมาณ 1,000 ตัน โดยใช้เส้นทางรถไฟสายจีน-ลาวไปถึงมหานครฉงชิ่ง (Chongqing) ในภาคตะวันตกของจีนสำเร็จเป็นครั้งแรก ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการขนส่งระบบรางเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการและประเทศโดยส่วนรวม

ภายใต้การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ภาคเกษตรกรและภาคเอกชนตามนโยบายการพัฒนาโลจิสติกส์เกษตรและยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตเพื่อการส่งออกของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพาณิชย์กับ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งออกข้าวไทย 1,000 ตัน ผ่าน “รถไฟจีน-ลาว” ถึงฉงชิ่ง

และต้องขอบคุณ สปป.ลาวและจีนในความร่วมมืออันดียิ่ง สำหรับความสำเร็จก้าวแรกในครั้งนี้แม้ต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด19 หลายรอบ ซึ่งทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความยากลำบากโดยเฉพาะในปีที่ผ่านมา โดยจะประเมินผลการส่งออกข้าวล็อตแรกครั้งนี้ รวมทั้งระบบการจองขบวนรถขนส่งสินค้าและการจองตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งกำลังประสานงานกับผู้ให้บริการของทั้ง สปป.ลาว และจีนเพื่อเร่งขยายผลไปสู่การส่งออกสินค้าเกษตรตัวอื่นรวมทั้งเป้าหมายตลาดใหม่ๆ ทั้งในมณฑลต่างๆ ของจีนและประเทศอื่นๆ ต่อไปโดยเร็ว

ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งออกข้าวไทย 1,000 ตัน ผ่าน “รถไฟจีน-ลาว” ถึงฉงชิ่ง

 

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า เราเดินหน้าสร้างความพร้อมสำหรับวันนี้มาเป็นเวลากว่า 2 ปี สำหรับการขนส่งผ่านทางรถไฟสายใหม่ซึ่งเพิ่งเปิดเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ตามยุทธศาสตร์อีสานเกตเวย์ (ESAN Gateway) เชื่อมไทย-เชื่อมโลก นับเป็นการเปิดศักราชหน้าใหม่ของการค้าการส่งออกสินค้าไทยไปจีน โดยมีเป้าหมายสู่ตลาดต่อไปคือตลาดเอเซียกลาง เอเซียตะวันออก ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรปและเพิ่มสินค้าเกษตรที่จะขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ คือ ยางพารา ผลไม้ กล้วยไม้ไทย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สินค้าประมงและปศุสัตว์รวมทั้งสินค้าเกษตรแปรรูปและสินค้าอื่นๆ

“สำหรับมหานครฉงชิ่ง เป็นชุมทางรถไฟและการขนส่งหลายรูปแบบโดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการมีที่ตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมใหม่ BRI (อีต้าอีลู่) และแม่น้ำแยงซีเกียง จึงมีความพร้อมทางด้านโลจิสติกส์และได้วางนโยบายเชื่อมโยง “ฉงชิ่ง-อาเซียน” เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับรัฐบาลไทย ทั้งนี้ มหานครฉงชิ่งมีเขตโลจิสติกส์อาเซียนและนานาชาติในตำบลหนานเผิง เขตปาหนาน (Chongqing ASEAN International Logistics Park) ถือเป็นเส้นทางขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่สำคัญและเป็น “ประตูเศรษฐกิจของจีนตะวันตก” สามารถเป็นจุดกระจายสินค้าไปมณฑลต่างๆ ในภูมิภาคตะวันตกของจีนและขนส่งผ่านไปยังประเทศต่างๆ ทั้งนี้ ตนเคยเดินทางเยือนมหานครฉงชิ่งเห็นถึงศักยภาพของมหานครแห่งนี้เพราะนอกจากการเป็นชุมทางการขนส่งทางรางและทางอากาศแล้ว มหานครฉงชิ่งยังสามารถเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งในแม่น้ำแยงซีเกียงเพราะมีท่าเรือ “กว่อหยวน” ตั้งอยู่ที่เขตเศรษฐกิจใหม่เหลี่ยงเจียงเป็นจุดกระจายสินค้าเข้าไปสู่ตอนกลางและภาคตะวันออกของจีนได้อีกเส้นทางหนึ่งด้วย ยิ่งกว่านั้นยังมีตลาดค้าส่งสินค้าเกษตรนานาชาติซวงฝู เป็นศูนย์กลางกระจายผักและผลไม้ของจีนตะวันตก ตลาดซวงฝูตั้งอยู่ในทำเลที่มีการคมนาคมขนส่งที่สะดวก มีการเชื่อมโยงกับสถานีรถไฟ ท่าเรือและท่าอากาศยานของฉงชิ่งเหมาะต่อการค้าขายและกระจายสินค้าเกษตรของไทย โดยเฉพาะผลไม้ที่จะขนส่งทางรถไฟจากไทยไปฉงชิ่ง ภายในเวลา 1 – 2 วัน ทำให้มีความสดและอร่อย มั่นใจจะเพิ่มการขายขยายตลาดได้อีกมากหลังจากปี 2564 เราส่งออกผลไม้ได้กว่าแสนล้านบาท ทำลายสถิติที่ผ่านมา และครองมาร์เก็ตแชร์ตลาดผลไม้ในจีนเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการระบาดของโควิด19 และมีผลกระทบต่อการขนส่งและการเปิดปิดด่านเข้าออกจีนกรณีพบการปนเปื้อน ซึ่งเราจะการ์ดตกในเรื่องนี้ไม่ได้ ตั้งแต่ฟาร์มถึงตลาด โดย ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการเป็นพิเศษในเรื่องนี้