"ท้าวหิรัญพนาสูร" เปิดตำนานที่มา และคาถาบูชาแคล้วคลาด-พ้นโรคภัย
"ท้าวหิรัญพนาสูร" หรือ ท้าวหิรัญฮู เทพผู้อารักขารัชกาลที่ 6 เปิดตำนานที่มาและคาถาบูชาป้องกันภัยให้แคล้วคลาดจากอันตราย - โรคภัยไข้เจ็บ
เรียกว่าเรื่องราวในตำนานของ "ท้าวหิรัญพนาสูร" กำลังได้รับความสนใจ หลังจากที่มีการเชื่อมโยงไปถึงคำทำนายโรคระบาดในอีก 100 ปีข้างหน้า (นับแล้วก็คือเดือนเมษายน พ.ศ.2563) จะเกิดโรคระบาดรุนแรงผู้คนล้มตายจำนวนมาก โดยจะเลวร้ายสุดในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2564 และสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2565
ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศไทยที่กำลังเผชิญวิกฤตโควิด-19 อยู่ในขณะนี้ วันนี้กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาย้อนถึงประวัติของท้าวหิรัญพนาสูรว่าคือใคร และคาถาบูชา
ท้าวหิรัญพนาสูร หรือ ท้าวหิรัญฮู เป็นอสูรที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงนับถือเป็นเทพารักษ์ประจำพระองค์
ประวัติท้าวหิรัญพนาสูร
ในปี ร.ศ. 126 ขณะที่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จประพาสเมืองลพบุรี คืนหนึ่งมีผู้ตามเสด็จท่านหนึ่งได้มีนิมิตฝันประหลาดเห็นชายหุ่นล่ำสันใหญ่โตมาหา บอกว่าชื่อ "หิรัญ" เป็นอสูรชาวป่ามาบอกว่า ต่อแต่นี้เขาจะคอยตามเสด็จพระองค์ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ใด เขาจะคอยดูแลและระวังภัยไม่ให้เกิดขึ้นกับพระองค์ท่านได้
เมื่อทรงทราบเหตุการณ์ในฝันจึงทรงมีพระราชดำรัสให้จุดธูปเทียน จัดเตรียมอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ในป่าเมืองลพบุรีนั้นทันที และทุกครั้งไม่ว่าจะเสด็จฯไปแห่งหนใด ในเวลาค่ำถึงยามเสวย พระองค์จะมีพระราชดำรัสให้จัดอาหารเซ่นสังเวย "ท้าวหิรัญฮู" ทุกครั้งไป
และเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์แล้วพระองค์ก็ยังทรงระลึกถึง "ท้าวหิรัญฮู" อยู่เสมอ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ช่างหลวงมาหล่อรูปท้าวหิรัญฮูด้วยทองสัมฤทธิ์ จากนั้นก็ทรงให้ข้าราชบริพารจัดเครื่องเซ่นสังเวย และเชิญท้าวหิรัญฮูเข้าสถิตในรูปหล่อนั้น พระราชนามให้ว่า "ท้าวหิรัญพนาสูร" แต่งองค์ทรงเครื่องสวมชฎาแบบโบราณ มีไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ
มหาดเล็กคนสนิทผู้หนึ่งคือ "จมื่นเทพดรุณทร" ได้เล่าให้ข้าราชบริพารฟังต่อๆกันมาว่า ในหลวง ร.6 ทรงเรียกท้าวหิรัญพนาสูรว่า "ตาหิรัญฮู" ซึ่งคนในวังสมัย ร.6 จะรู้ถึงกิตติศัพท์ของ "ตาหิรัญฮู" ดีว่าสำแดงเดชและอภินิหารอย่างไรบ้าง จึงเล่ากันปากต่อปากเรื่อยมา
อย่างเรื่องแรกเกิดขึ้นเมื่อโปรดให้สร้างรูปท้าวหิรัญพนาสูร โดยให้พระยาอาทรธรศิลป์ (ม.ล.ช่วง กุญชร) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีแกลเลตตี นายช่างชาวอิตาเลี่ยนที่มาทำงานในกรมศิลปากรเป็นผู้หล่อ เมื่อหล่อเสร็จก็จะยกขึ้นตั้งบนฐานในพระราชวังพญาไท แกลเลตตีก็เอาเชือกผูกคอท้าวหิรัญฮูชักรอกขึ้นไป เสร็จแล้วแกลเลตตีก็ป่วยกะทันหันทำงานไม่ได้ เพราะคอเคล็ดโดยไม่รู้สาเหตุ พอพระยาอาทรไปเยี่ยม ท่านพอจะรู้สาเหตุจึงบอกว่าคงเป็นเพราะเอาเชือกไปผูกคอรูปหล่อท้าวหิรัญฮูให้เอาดอกไม้ ธูป เทียนไปขอขมาเสีย เมื่อนายช่างชาวอิตาเลี่ยนทำตามคอที่เคล็ดจึงกลับมาเป็นปกติอย่างอัศจรรย์
อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งพระองค์ได้เสด็จฯ ตรวจรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งเป็นพระราชมรดก โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ตามเสด็จ กรมหมื่นฯ ได้กราบทูลขอรถยนต์คันหนึ่ง ซึ่งมีรูปท้าวหิรัญฮูติดอยู่ด้วย พระองค์ก็พระราชทานให้ เล่ากันว่าเมื่อเอารถกลับไปไว้ที่วังสี่แยกหลานหลวง คืนนั้นก็นอนไม่หลับ ได้ยินเสียงกุกกักๆ ในโรงเก็บรถทั้งคืน ครั้นลุกไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร จึงคิดว่าอาจเป็นเสียงหนู
แต่ขณะที่กำลังคิดในทางที่ดีก็ต้องสะดุ้งสุดตัว เพราะจู่ๆไฟในโรงรถก็เกิดสว่างจ้าขึ้นมาเฉยๆทั้งที่โรงรถปิดอยู่ จึงเรียกคนขับรถและมหาดเล็กไปช่วยกันดู แต่พอเปิดประตูโรงเก็บรถก็ต้องใจหายเป็นครั้งที่ 2 เพราะไม่มีใครอยู่ในนั้นเลย และยังน่าสงสัยที่เห็นรถจอดขวางโรง ซึ่งแต่แรกไม่ได้จอดในลักษณะนี้ จึงต้องช่วยกันกลับรถจอดใหม่ จากนั้นรุ่งขึ้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ ต้องจัดเครื่องเซ่นสังเวยท้าวหิรัญฮูเพื่อขอขมา และไม่กล้าใช้รถพระราชทานคันนั้นอีกเลย
ของสักการะท้าวหิรัญพนาสูร
ส่วนใหญ่นิยมถวายดอกดาวเรือง ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม หมากพลู ขนมไทยโบราณ ผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น ขนุน สับปะรด กล้วยน้ำว้า และมะพร้าวอ่อน
คาถาบูชาท้าวหิรัญพนาสูร (เทพเจ้าแห่งดงพญาเย็น)
(จุดธูป 16 ดอก) ตั้งนะโม 3 จบ
"ระหินะ ภูมาสี ภะสะติ นิรันตะรัง ลาภะสุขัง ภะวันตุเม" (สวด 9 จบ)
ปัจจุบันรูปหล่อองค์ท้าวหิรัญพนาสูรตั้งอยู่ภายในศาลบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใกล้กับพระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ทั้งนี้แล้วหลายคนมักจะขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากอันตราย และอีกเรื่องคือขอให้รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
ข้อมูลจาก wikipedia.org