ยก "ราชบุรีโมเดล" นำร่องเศรษฐกิจแบบบีซีจี(BCG)
ยก "ราชบุรีโมเดล" นำร่องเศรษฐกิจแบบบีซีจี(BCG) เครือข่ายแก๊บเน็ตชู "คน" หัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จ
การประชุมสัมมนาเรื่อง การอารักขาพืชอย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG จัดโดยสมาคมอารักขาพืชไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเครือข่ายแก๊บเน็ต(GAPNET) เมื่อวันพฤหัสที่ 20 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต กรุงเทพฯ ที่ผ่านการฉายภาพของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเพื่อหาบทสรุปสำคัญเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป
นายสัตวแพทย์ยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตรแบบบีซีจี(BCG)รัฐบาลกล่าวตอนหนึ่งในระหว่างการปาฐกถาพิเศษเรื่องเศรษฐกิจไทย ก้าวไกลด้วย BCG โดยระบุว่าเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานของบีซีจีที่เน้นเรื่องความสมดุล โดยมีเป้าหมายสินค้าหลัก 4 กลุ่ม ประกอบด้วย เกษตรและอาหาร,สุขภาพและการแพทย์,พลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพและการท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ทำให้ทุกกินอิ่ม นอนอุ่น อยู่เย็นและเป็นสุข เนื่องจากประชาชนมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี รักษา และฟื้นฟูฐานทรัพยากรจากความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย
“การเกษตรแบบบีซีจี(BCG)จะเน้น 3 ส่วนคือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูงและรายได้สูง ส่วนกลไกปฏิรูปภาคการเกษตรจะประกอบด้วยคน ปัจจัยการผลิต คลังข้อมูลและองค์ความรู้ ภายใต้ความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันเกษตรกร สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและองค์กรท้องถิ่น”
นายสัตวแพทย์ยุคล ได้ยกตัวอย่างจังหวัดราชบุรี เป็นจังหวัดนำร่องที่ใช้โมเดลเศรษฐกิจแบบบีซีจี(BCG) เนื่องจากมีความพร้อมในหลายๆ ด้าน มีสินค้าที่หลากหลาย อาทิ มะพร้าวน้ำหอม กุ้งก้ามกราม โคนม อ้อยและสุกร ซึ่งในแต่ละตัวสินค้ามีการทำเทคโนโลยี นวัตกรรมจากงานวิจัยมาใช้ในกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน มีการบูรณาการ การทำงานจากทุกภาคส่วน ที่สำคัญตัวเกษตรกรที่พร้อมจะขับเคลื่อนแนวทางนี้ไปด้วยกัน
“อย่างมะพร้าวน้ำหอมทุกวันนี้ไม่มีเศษเหลือทิ้งแล้ว ทุกส่วนของมะพร้าวใช้ได้หมด อย่างเปลือกมะพร้าวเมื่อก่อนทิ้งเต็มเลย แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นสิ่งมีค่า นำเส้นใยมาทำเฟอร์นิเจอร์ โดยมีนักวิจัยเข้ามาช่วยดูแล หรือสุกร มีการดูแลมาตรฐานฟาร์มเลี้ยง ลดปัญหาการปล่อยน้ำเสีย การนำมูลสุกรมาใช้เป็นพลังงาน กุ้งก้ามกรามดำเนินก็เป็นกุ้งอินทรีย์มีหอการค้าราชบุรีเข้ามาเล่นกับเกษตรกรด้วย เป็นการบูรณาการจากทุกภาคส่วน”
ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายภาคเกษตรแบบบีซีจี(BCG)รัฐบาลยอมรับว่าวันนี้รัฐบาลได้ร่างแผนเศรษฐกิจแบบบีซีจี(BCG)กรอบใหญ่อยู่ในสภาพัฒน์เรียบร้อยแล้ว ส่วนนโยบายหน่วยงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งกระทรวงเกษตรฯ เองก็ต้องมีนโยบายล้อไปกับกรอบใหญ่ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ รศ.ดร.ทศพล พรพรหม อาจารย์ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสนกล่าวว่า ทำไมการอารักขาพืชและเกษตรยั่งยืน จึงมีความสำคัญ เพราะด้วยประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นความต้องการอาหารมากขึ้นทำให้มีการเพิ่มผลผลิตมากขึ้นเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ ในขณะที่เราก็ต้องหาทางป้องกันอารักขาพืชจากโรคและแมลงศัตรูพืชต่างๆ ที่มาทำลายผลผลิต เช่น หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ใบด่างมันสำปะหลัง โรคเหี่ยวกล้วยหรือโรคใบร่วงยางพารา เป็นต้น
จะเห็นว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบการระบาดของศัตรูพืชต่างถิ่นหรือศัตรูพืชอุบัติใหม่หลายชนิดที่ผลิตได้รับความเสียหาย และคุณภาพผลผลิตต่ำลง ดังนั้นนักวิจัยจึงมีส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศนำองค์ความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตรในภาวะวิกฤติเพื่อยกระดับไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของภาคการเกษตรไทย เพื่อเป้าหมายให้ประชาชนมีความกินอยู่ที่ดีมีความมั่นคงในชีวิต
ด้าน ดร.เมธินี ศรีวัฒนกุล เลขานุการเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัยหรือแก๊บเน็ต(GAPNET)ย้ำว่าจะเห็นว่าทุกคนคงไม่ปฏิเสธความสำคัญเรื่องความปลอดภัย เรื่องเศรษฐกิจสีเขียวมีความสำคัญมาก เป็นเรื่องของความปลอดภัย สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของความมั่นคงชีวิต รวมถึงตัวเราเอง
“ตอนนี้ประเทศไทยยังโชคดี เรายังมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย เรามีเกษตรกรที่มีศักยภาพมากความสามารถจำนวนมากแล้วยังมีฐานภาครัฐ และเอกชนในการวิจัยพัฒนา รวมถึงมีองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะเป็นฐานในการให้เครื่องมือต่างๆ ให้เกษตรกรผลิตได้ และยังโชคดีมีฐานลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศที่อยากจะเห็นกระบวนการผลิตดีๆ มีสินค้าคุณภาพ”
ดร.เมธินี ย้ำอีกว่า แต่ทว่าการทำงานเพื่อไปสู่ความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เราทุกคนต้องการก็ยังมียากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตที่มีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป มีโรคแมลงต่างๆ มารุมเร้ามากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคอาจเชื่อมั่นในสินค้าน้อยลง เพราะยังไม่เชื่อว่าผ่านกระบวนการผลิตถูกต้องปลอดภัย เพราะฉะนั้นความยากลำบากเหล่านี้ ก็จะเป็นโจทย์สำคัญให้เราไปสู่เป้าหมายบีซีจี(BCG)ได้
“สิ่งที่เราข้ามผ่านอุปสรรคความยากลำบากเหล่านี้ เพื่อไปสู่เป้าหมายได้ก็คือ คน ถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ไม่ใช่เฉพาะเกษตรกรเท่านั้น แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เมื่อคนพร้อมก็ต้องมีเครื่องมืออย่างเพียงพอ ที่ทุกคนเข้าถึงและเข้าใจในการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยและใช้ต้นทุนต่ำ”
เลขานุการเครือข่ายเกษตรและอาหารปลอดภัยหรือแก๊บเน็ต(GAPNET) ย้ำด้วยว่า ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องมีส่วนในการกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความสมดุลในการปฏิบัติดี และป้องปรามในสิ่งไม่ดี และสุดท้ายการทำงานทั้งหมดจะไม่สำเร็จได้เลย หากเราปราศจากการทำงานร่วมกันให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงในพื้นที่ต่างๆ และที่สำคัญต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์