"โรงเรียนวรรณวิทย์" สุดยื้อเลิกกิจการปิดฉาก 75 ปี ในวันที่สิ้นเสียงระฆัง

"โรงเรียนวรรณวิทย์" สุดยื้อเลิกกิจการปิดฉาก 75 ปี ในวันที่สิ้นเสียงระฆัง

"โรงเรียนวรรณวิทย์" สุดยื้อ ในวันที่สิ้นเสียงระฆัง ปิดฉาก 75 ปี โดยเฟซบุ๊ก ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ ได้ประชาสัมพันธ์งาน สิ้นเสียงระฆังวรรณวิทย์ ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 นี้

เฟซบุ๊ก ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์ ได้ประชาสัมพันธ์งาน สิ้นเสียงระฆังวรรณวิทย์ ในวันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงเรียนวรรณวิทย์ สุขุมวิทซอย 8 ซึ่งได้เรียนเชิญศิษย์วรรณวิทย์ และเพื่อนศิษย์ทุกท่าน นอกจากนี้ยังได้ระบุเพิ่มเติมด้วยว่า ไม่อยากให้ถึงวันนี้ แต่ทุกสิ่งย่อมมีวันสิ้นสุด คุณครูและพวกเราทุกคน ทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนมีแต่สิ่งดีๆ ให้น่าจดจำ

 

 

มีรายงานถึงสาเหตุของการปิดตัวลงของ "โรงเรียนวรรณวิทย์" เนื่องจากเกิดสภาวะขาดทุนมาตลอดในช่วงหลัง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้จำนวนนักเรียนลดลงเรื่อยๆ ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีฐานะ ก็ได้รับผลกระทบและมีการค้างจ่ายค่าเล่าเรียน

 

สำหรับ "โรงเรียนวรรณวิทย์" ก็มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จัก อาทิ ดาวใจ ไพจิตร นักร้องรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน , ตั๊ก บริบูรณ์ จันทร์เรือง นักแสดงและพิธีกร รวมถึง เปี๊ยก อรัญญา นามวงศ์ นักแสดงในอดีตด้วย

 

ปัจจุบัน "โรงเรียนวรรณวิทย์" ก่อตั้งมาแล้วได้ 75 ปี มีการเปิดรับนักเรียนเข้าศึกษาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยรับทั้งนักเรียนชายและนักเรียนหญิง และมีผู้อำนวยการและผู้จัดโรงเรียนคือ หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ มีบุคลากรครูทั้งหมด 43 คน ส่วนใหญ่เป็นศิษย์เก่าของโรงเรียน ทางโรงเรียนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ การใช้เสียงระฆังเป็นสัญลักษณ์ในการส่งสัญญาณเปลี่ยนคาบเรียน

 

\"โรงเรียนวรรณวิทย์\" สุดยื้อเลิกกิจการปิดฉาก 75 ปี ในวันที่สิ้นเสียงระฆัง

 

ประวัติ "โรงเรียนวรรณวิทย์"

 

โรงเรียนวรรณวิทย์ ก่อตั้งโดยหม่อมผิว สุขสวัสดิ์ ณ อยุธยา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่เรือนไม้ชั้นเดียวในซอยสุขุมวิท 4 ถนนสุขุมวิท หรือ ซอยสมาหาร โรงเรียนวรรณวิทย์ ในระยะแรกเริ่มก่อตั้งมีนักเรียนเพียง 7 คนเท่านั้น

 

 

หม่อมผิว เป็นครูใหญ่เอง สั่งสอนอบรมนักเรียนเองด้วย โดยมีความมุ่งมั่นที่จะให้เป็นสถานศึกษา ที่ให้ทั้งวิชาความรู้ รวมทั้งอบรมสั่งสอนศิลธรรม จรรยา ขนบประเพณี และพลศึกษาไปด้วย ในระยะแรกเริ่มก่อตั้งมีนักเรียนเพียง 7 คน โดยหม่อมผิว เป็นครูใหญ่และทำการสอนด้วยตนเอง โดยไม่เก็บเงินบำรุงการศึกษาในการรับเข้าเรียนและอนุญาตให้ค้างค่าเล่าเรียนโรงเรียนได้ โรงเรียนวรรณวิทย์ขยายกิจการขึ้นเรื่อย ๆ มีนักเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี และได้เพิ่มชั้นเรียนขึ้นจนถึงชั้นมัธยมสามัญตอนกลาง (ม.3 ในปัจจุบัน) ใน พ.ศ. 2496

 

ต่อมาหม่อมผิว มีอายุมากขึ้น จึงให้ธิดาคนเล็กคือ หม่อมราชวงศ์รุจีสมร สุขสวัสดิ์ เป็นผู้จัดการ และครูใหญ่แทน โดยเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2497

 

และในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2497 นี้กระทรวงศึกษาธิการได้รับรองวิทยฐานะโรงเรียนวรรณวิทย์เทียบเท่าโรงเรียนรัฐบาล และในปีนี้โรงเรียนได้ซื้อที่ดินด้านหน้า ซอยสุขุมวิท 8 (ซอย ปรีดา) จึงเปลี่ยนทางเข้าออกและเลขที่มาเป็นด้านซอยสุขุมวิท 8 ส่วนประตูทางเข้าเดิมด้านซอยสมาหารเปลี่ยนเป็นประตูหลัง และได้ขยายอาคารเรียนเพิ่มขึ้นอีก จากอาคารเรือนไม้ชั้นเดียวมาเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น รูปตัวแอล

 

พ.ศ. 2505 ได้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น ชั้นล่างใช้เป็นโรงอาหาร ส่วนชั้นที่ 2 และ 3 ใช้เป็นห้องเรียนสำหรับระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3

 

พ.ศ. 2508 ได้สร้างอาคารใต้ถุนสูงขึ้นอีก 1 หลังด้านหน้าโรงเรียน ชั้นล่างเปิดโล่งตลอดเป็นลานอเนกประสงค์ ชั้นบนเป็นห้องเรียน

 

ปัจจุบัน โรงเรียนมีพื้นที่ขนาด 3 ไร่ อาคารเรียนเป็นอาคารไม้สองชั้น มีนักเรียนประมาณ 500 คน ทางโรงเรียนคิดค่าเทอมในราคาที่ถูกมาก เนื่องจากนักเรียนส่วนมากเป็นบุตรหลานของผู้ที่มีรายได้น้อยในละแวกนี้ 

 

แม้จะมีผู้ขอซื้อที่ดินไปสร้างเป็นโรงแรมและคอนโดมิเนียมโดยให้ราคาสูงถึงพันล้านบาท แต่ทางหม่อมราชวงศ์รุจีสมรซึ่งเป็นผู้บริหารยืนยันที่จะไม่ขาย ด้วยต้องการจะให้เป็นสถานที่ให้การศึกษาแก่เด็กๆต่อไป

 

อ้างอิงจาก วิกิพีเดีย , เฟซบุ๊ก ศิษย์เก่าโรงเรียนวรรณวิทย์