"ปรับค่าแรง" ขอค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เช็คกระทรวงแรงงาน และแรงงานซาอุ
ตรวจสอบอัพเดท "ปรับค่าแรง" ขอค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาท เช็คกระทรวงแรงงาน และแรงงานซาอุ สถานการณ์ความต้องการแรงงานไทย
ท่ามกลางข่าวดีว่า ซาอุดีอาระเบีย มีความต้องการ "แรงงาน" จากไทย ตั้งเป้า 8 ล้านคน หลัง สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พบหารือทวิภาคีกับ นายอะห์หมัด บิน สุไลมาน อัลรอยิฮี Ahmad Sulaiman ALRajhi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาทางสังคม ซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการที่นายกรัฐมนตรีและคณะเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ณ เรือนรับรองแขกต่างประเทศ พระราชวังคิงซาอุด
โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ
- โรงแรม
- สุขภาพ
- อุตสาหกรรมก่อสร้าง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผยฝ่ายซาอุดีอาระเบียยังให้กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ดำเนินการจัดการหาแรงงานดีมีฝีมือ โดยตั้งเป้าให้ได้ 8 ล้านคน ซึ่งไทยสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และซาอุดีอาระเบียประสงค์ผลักดันความร่วมมือด้านแรงงานให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะแรงงานภาคบริการ โรงแรม สุขภาพ และอุตสาหกรรมก่อสร้างในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ส่วนมาตรการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการของแรงงานต่างชาติในซาอุดีอาระเบียนั้น จะมี E-Contract Program ซึ่งเป็นการทำสัญญาจ้างอิเล็กทรอนิกส์ มุ่งรักษาสิทธิของลูกจ้าง และลดความขัดแย้งระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง รวมถึงมีข้อริเริ่ม Labor Mobility Initiative ให้แรงงานเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น สร้างประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข็งขันในตลาดแรงงาน
สถานการณ์ปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ไปทำงานอยู่ในซาอุดีอาระเบีย จำนวน 1,345 คน (ข้อมูล ณ ธ.ค.64) แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานส่วนใหญ่เป็นการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง
นายจ้างพาไปทำงาน และ Re – entry ซึ่งตำแหน่งงานที่แรงงานไทยเดินทางไปทำงาน
- ช่างเชื่อม
- ช่างเทคนิค
- ช่างเครื่องยนต์
- ผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน
- ผู้ควบคุมเครื่องจักร
- คนงานผลิตผลิตภัณฑ์ทั่วไป
- คนงานควบคุมเครื่องจักร
- ผู้ช่วยกุ๊ก
- แม่บ้าน
ขณะที่ "ค่าแรง" ในประเทศไทย ก็น่าติดตาม กรณี คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เข้าพบหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ที่ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565
สรุปประเด็น
- เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำยืนยันว่าปรับแน่แต่ตัวเลขจะเป็นเท่าไหร่ ตามที่ คสรท. เสนอ 492 บาทหรือไม่นั้นยังตอบไม่ได้ และจะเร่งให้เร็วที่สุดจากอนุกรรมการจังหวัดและกรรมการกลาง สำหรับเรื่องให้ค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั้งประเทศก็จะพยายามไปหาแนวทาง
- สั่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการเรื่องโครงสร้างค่าจ้างเพื่อ จะได้เลิกถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างแรกเข้าจากนั้นแล้วก็จะปรับขึ้นโดยอัตโนมัติทุกปี
- สั่งการให้ข้าราชการหาตัวเลขลูกจ้างในภาคราชการทั้งหมดทั่วประเทศทุกกระทรวงว่ามีจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลให้มีค่าจ้างที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ คสรท.เสนอว่า ลูกจ้างภาครัฐเกือบทั้งหมดเป็นลูกจ้างชั่วคราว เหมางาน แต่ได้ค่าจ้างต่ำ ไม่มีสวัสดิการใดๆโดยเมื่อไปเรียกร้องผลักดันหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอ้างว่า ข้าราชการและลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานทุกฉบับ
- เรื่องการเบิกจ่ายเงินลาคลอดบุตรที่ ครม.มีมติเพิ่มขึ้นจาก 90 วัน เป็น 98 วันนั้นตอนนี้รัฐมนตรีลงนามในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมแล้วและส่งให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า และจะเสนอต่อรัฐสภาเพื่อประกาศบังคับใช้ต่อไป โดยสาระคือ สำนักงานประกันสังคมจ่าย 4 วัน นายจ้างจ่าย 4 วัน ส่วนการให้สามีลาช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตร 15 วันนั้นรัฐมนตรีขอเวลาไปศึกษา
- ประเด็นเรื่องเลิกจ้างคนท้องได้ประชุมหารือ ติดตามเรื่องกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ซึ่งบางกรณีได้ส่งเรื่องเข้า กรส.ไปแล้วรอการชี้ขาด บางกรณีอยูในชั้นพูดคุยหารือภาย กับบริษัท ซึ่งมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และขอให้กระทรวงแรงงาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนส่งเสริมทำงานเชิงรุกเพื่อให้ปัญหาการละเมิดสิทธิ การเลิกจ้างคนท้องหมดไป
นี่เป็นสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศ และโอกาสไปทำงานต่างประเทศส่งเงินกับมาให้ครอบครัว ในขณะที่ "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นเรื่องติดตามว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่.
ข้อมูลและภาพ : กระทรวงแรงงาน คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)