"คนละครึ่งเฟส 4" เจอดราม่า คลังฯร่ายยาวชี้แจงจุดประสงค์โครงการ
ประเด็นดราม่าโครงการ "คนละครึ่งเฟส 4" จากกรณีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้โครงการซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ข้อด้วยกัน ล่าสุดคลังฯร่ายยาวชี้แจงจุดประสงค์โครงการ
ประเด็นดราม่าโครงการ "คนละครึ่งเฟส 4" จากกรณีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้โครงการซึ่งมีประเด็นสำคัญ 3 ข้อด้วยกัน โดย กระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวเป็นข้อๆดังต่อไปนี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "ลงทะเบียนคนละครึ่งเฟส 4" ขั้นตอนยืนยันสิทธิรายเดิม รายใหม่ต้องทำอะไรบ้าง
- "คนละครึ่งเฟส 4" คู่มือลงทะเบียน www.คนละครึ่ง.com รายใหม่ควรเซฟเก็บไว้เลย
- "คนละครึ่งเฟส 4" ซื้อตั๋ว MRT ผ่านแอพฯเป๋าตังได้ เช็คขั้นตอน วิธีซื้อง่ายๆ
สำหรับโครงการ "คนละครึ่งเฟส 4" ได้เปิดให้ผู้ใช้รายเดิม (ที่เคยเข้าร่วมคนละครึ่งเฟส 3) จำนวน 27.98 ล้านคน ยืนยันสิทธิเพื่อเข้าร่วมโครงการ ผ่านแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" รับวงเงินใช้จ่าย 1,200 บาท สำหรับรายใหม่ที่ต้องการเข้าร่วม เตรียมลงทะเบียนผ่าน www.คนละครึ่ง.com ในวันที่ 10 ก.พ.2565 นี้จำนวน 1 ล้านสิทธิ
โดยคลังฯได้ชี้แจงประเด็นดราม่า "คนละครึ่งเฟส 4" โดยมีประเด็นสำคัญ คือ
1. การที่รัฐบาลอ้างว่าประสบความสำเร็จนั้น ไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง เพราะผู้มีรายได้น้อยไม่มีเงินเพียงพอที่จะเติมเงินเข้าไปในแอพ "เป๋าตัง" ทำให้นโยบายนี้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร
2. ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่มีรายได้สูง การแจกเงินโดยไม่สร้างรากฐานทางเศรษฐกิจจะไม่ช่วยให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
3. เสนอให้รัฐบาลเลิกแจกเงินแล้วเปลี่ยนมาเน้นการจ้างงาน ให้คนเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน
คลังฯได้ชี้แจงเป็นข้อๆ ดังนี้
1.โครงการคนละครึ่งที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปลายปี 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานราก โดยการที่รัฐบาลเข้าไปช่วยสนับสนุนลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในส่วนของค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไป และบริการ วันละไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวันนั้น ไม่ได้มีลักษณะของการแจกเงิน
แต่เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนส่งต่อกำลังซื้อไปยังผู้ประกอบการรายย่อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหาบเร่แผงลอย ให้สามารถมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ในภาวะที่เศรษฐกิจถูกกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นวงกว้าง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งมากกว่า 1.3 ล้านร้านค้า และประชาชนมากกว่า 26 ล้านคน ได้ร่วมใช้สิทธิภายใต้โครงการ จึงกล่าวได้ว่า โครงการคนละครึ่งประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ สามารถเพิ่มเม็ดเงินจำนวนประมาณ 326,000 ล้านบาท
เป็นรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยในโครงการ ทั้งยังหมุนเวียนต่อเนื่องไปช่วยขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การผลิต และการจ้างงานที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานได้จนถึงปัจจุบันด้วย
และสำหรับโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ซึ่งได้เริ่มใช้จ่ายแล้วเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ และจะสิ้นสุดในวันที่ 30 เมษายน 2565 นั้น จะสามารถเพิ่มเม็ดเงินที่เข้าไปหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกันได้อีกประมาณ 6.96 หมื่นล้านบาท
และโดยวันแรกเพียงวันเดียว มีการใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 จำนวน 1,155 ล้านบาท โดยเป็นเงินของประชาชน 585 ล้านบาท และเป็นเงินที่รัฐบาลสนับสนุน 570 ล้านบาท นอกจากการลดภาระการใช้จ่ายของประชาชนผ่านโครงการคนละครึ่งดังกล่าวแล้ว กระทรวงการคลังยังได้ดำเนินโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษควบคู่กันไปด้วยเพื่อดูแลและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงผู้ไม่มี โทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน ให้ได้อย่างทั่วถึงมากที่สุด
2. กระทรวงการคลังขอเรียนว่า โครงการคนละครึ่งถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชุดมาตรการที่รัฐบาลใช้ดูแลเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงให้ความสำคัญและดำเนินการเพื่อเตรียมการสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายหลังสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งรวมถึงมาตรการที่สนับสนุนการจ้างงานและการช่วยให้ภาคธุรกิจและประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการใช้จ่ายเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน
สำหรับการดูแลประชาชนในระยะยาว กระทรวงการคลังยังมุ่งเป้าหมายสู่การยกระดับรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างสวัสดิการที่มั่นคงให้กับประชาชน ควบคู่กับการสร้างความรู้และทักษะทางการเงินที่จำเป็นรวมถึงความรู้เท่าทันเกี่ยวกับภัยทางการเงินต่างๆ
ซึ่งที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่งได้ทำหน้าที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยได้สามารถเสริมสร้างทักษะความรู้ความเข้าใจต่อการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) ให้กับประชาชนผ่านการใช้แอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” อย่างก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น
ที่มา : กระทรวงการคลัง