"ร้องไห้หักคะแนน" ล่าสุด ผอ.แจงแล้ว ดราม่าออกกฎทดสอบเด็กอนุบาลเข้าเรียน

"ร้องไห้หักคะแนน" ล่าสุด ผอ.แจงแล้ว ดราม่าออกกฎทดสอบเด็กอนุบาลเข้าเรียน

ผอ.โรงเรียนดัง แจงประเด็นดราม่า "ร้องไห้หักคะแนน" หลังโซเชียลวิจารณ์ยับออกกฎทดสอบเด็กอนุบาลเข้าเรียน ด้าน "หมอเดว" ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่นชี้ทำไม่ได้ จัดเป็นระบบทารุณกรรมเด็ก

จากประเด็นดราม่า "ร้องไห้หักคะแนน" 3 คะแนน เกี่ยวกับการรับสมัครนักเรียนเข้าเรียน หลังมีผู้ปกครองรายหนึ่งได้แชร์ประกาศของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดมหาสารคาม เกี่ยวกับการรับสมัครนักเรียนชั้นอนุบาล 1 อนุบาล 2 และอนุบาล 3 เข้ารับการศึกษา โดยมีประกาศข้อปฏิบัติในการทดสอบจำนวน 3 ข้อ คือ

 

  1. นักเรียนต้องเข้าทดสอบทุกฐาน
  2. หากนักเรียนที่เข้าทดสอบร้องไห้ ให้หักคะแนนฐานที่ร้องไห้ฐานละ 3 คะแนน
  3. ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้าห้องสอบทุกกรณี

 

 

หลังจากประกาศดังกล่าวได้แพร่สะพัดออกไปในโลกออนไลน์ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมโซเชียลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประเด็นที่มีการกล่าวถึงคือ "ร้องไห้หักคะแนน" หากเด็กที่เข้าทดสอบร้องไห้จะถูกหัก 3 คะแนน ซึ่งผู้ปกครองหลายคนจึงเกิดคำถามว่า หากเด็กมีความกดดันจะห้ามไม่ให้เด็กร้องไห้ได้อย่างไร เพราะเป็นธรรมชาติของเด็ก

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝ่ายประถม ซึ่งตั้งอยู่ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พื้นที่ตั้งในเมือง เพื่อสอบถามข้อมูลถึงประเด็นการหัก 3 คะแนนดังกล่าว

 

โดย รศ.ดร.สุนันท์ สายกระสุน ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ฝ่ายประถม ได้ชี้แจงประเด็น "ร้องไห้หักคะแนน" ว่า ประกาศที่เผยแพร่ผ่านทางโซเชียลเป็นหนึ่งในระเบียบของการทดสอบเด็กนักเรียนที่จะเข้ามาศึกษาต่อในสถาบัน ซึ่งมีการกำหนดไว้มานานแล้ว ถือเป็นระเบียเพื่อสร้างความเสมอภาพให้กับเด็กที่เจ้าทดสอบคนอื่นๆด้วย

 

เพราะการร้องไห้อาจรบกวนสมาธิของเด็กนักเรียนคนอื่นๆ เพราะถ้าเด็กคนหนึ่งร้องอาจทำให้เพื่อนคนอื่นๆร้องตาม ทำให้ไม่สนใจในสิ่งที่อยู่ข้างหน้า หรืออาจไม่สามารถเข้าทดสอบความรู้ความสามารถได้ต่อ ส่งผลกระทบต่อเด็กคนอื่นๆ

 

"การตัดคะแนนก็ถือว่าให้ความเป็นธรรมต่อเด็กคนอื่นด้วย ส่วนคะแนนเพียง 3 คะแนนเป็นเพียงคะแนนส่วนน้อย และปีนี้ที่ประกาศไปเพราะต้องการอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมในการทดสอบ จึงได้ทำประกาศออกไป"

 

 

รศ.ดร.สุนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากนี้อาจต้องมีการทบทวนระเบียบเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในแนวทางเดียวกัน แต่อย่างไรก็จะยึดหลักความเสมอภาค ความเป็นธรรมให้แก่เด็กผู้เข้าทดสอบทุกคนต่อไป

 

\"ร้องไห้หักคะแนน\" ล่าสุด ผอ.แจงแล้ว ดราม่าออกกฎทดสอบเด็กอนุบาลเข้าเรียน

 

ทั้งนี้จากประเด็นดราม่าดังกล่าว "หมอเดว" รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้โพสต์ให้ความเห็นไว้ว่า มีผู้ใหญ่ท่านส่งมาท่านถามว่าอย่างนี้ได้ด้วยหรือ?

 

โดย "หมอเดว" เผยว่า ไม่ได้แน่นอนครับ ไม่ควรทำ และไม่ควรมีใครเอาอย่างด้วย

 

การทดสอบ แบบ high stake test ที่มีได้ มีตก มีคะแนน หักคะแนน เพื่อนำไปประเมินผล เป็นกระบวนการเชิงระบบที่ทารุณเด็ก โดยไม่เข้าใจ เห็นใจจิตใจของเด็ก

 

โปรดระลึกว่าเด็กทุกคนไม่ใช่ผ้าขาว ฉะนั้นเด็กๆวัยนี้กำลังปรับตัว ปรับพื้นฐานอารมณ์ สังคม เด็กเลี้ยงง่าย เด็กเลี้ยงยาก เด็กอ่อนไหวง่าย เด็กพลังเหลือล้น เป็นธรรมชาติของเด็กวัยนี้ เขาไม่ผิด ที่จะถูกผู้ใหญ่มาสร้างกติการเปรียบเทียบ

 

การสอบวัดผลใดๆในช่วงปฐมวัย ผิดหลักจิตวิทยาพัฒนาการทั้งหมด

 

ปฐมวัย UNESCO ให้นิยามตั้งแต่ครรภ์มารดา จนถึง 8 ปี แต่บ้านเราแรกเกิดถึงหกปี

 

โดยหลักจิตวิทยาพัฒนาการ การประเมินพัฒนาการนั้น ในทางจิตวิทยา เขาประเมินท่ามกลางเด็กที่กำลังเล่นเพลินๆ มีความสุขกายสุขใจ

 

หากไม่พร้อมในการประเมิน นักจิตวิทยาก็จะหยุดไว้ก่อน แล้วค่อยนัดใหม่ ไม่มีการหักคะแนนใดๆ แต่สามารถเขียนบันทึก caution ได้

 

และสามารถมาเขียนเชิงพฤติกรรมได้เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนา การประมวลผลพัฒนาการ ทำในท่ามกลาง ความพร้อมของเด็ก ที่แต่ละคนจะไม่เหมือนกัน

 

ฉะนั้น การประเมินพัฒนาการ ที่หนังสือฉบับนี้ โรงเรียนแห่งนี้กำลังปฏิบัตินั้น ที่เรียกว่า ทดสอบ แล้ว บังคับการเข้าฐาน หักคะแนนเมื่อทำไม่ได้หรือร้องไห้

 

จึงไม่สามารถอ้างว่านี่คือการประเมินพัฒนาการเพื่อประโยชน์ของเด็ก (ละเมิดสิทธิเด็ก) ยิ่งเป็นการประเมินเพื่อรับสมัครเข้าเรียน ยิ่งสะท้อนว่า นี่แหละคือ High stake test

 

ย้ำว่า การใช้ High Stake Test (ระบบแพ้คัดออก) กับเด็กปฐมวัย จัดเป็น #ระบบทารุณกรรมเด็ก ผิดหลักการตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.เด็กปฐมวัย ครับ

 

ขณะที่ ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการอิสระ ก็ได้ออกมาพูดถึงประเด็นดังกล่าวด้วยว่า "Fanpage 10 กว่าคนส่งมาให้ เรากำลังทำอะไรกับเด็กๆ เป็นเด็กควรมีสิทธิ์ ร้องไห้ นะครับ"

 

ข่าวโดย เอนก กกระแจ่ม จ.มหาสารคาม / บันทึกหมอเดว / Wiriyah Eduzones