ลาออกไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ไขข้อสงสัย สรุปทำได้หรือไม่ได้กันแน่?
ลาออกไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ไขข้อสงสัย สรุปทำได้หรือไม่ได้กันแน่? ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์
ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อออนไลน์ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ลาออกจากงาน ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน สามารถออกจากงานได้ทันที ทาง ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน
กรณีการโพสต์ให้ข้อมูลที่ระบุว่า ลาออกจากงาน ไม่ต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน ตามกฎหมายแล้ว เมื่อลูกจ้างยื่นจดหมายลาออกให้กับบริษัท เท่ากับว่าการลาออกเสร็จสมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องรอการอนุมัติจากนายจ้าง สามารถออกได้ทันที และต้องได้ค่าตอบแทนถึงวันที่ทำงานวันสุดท้ายนั้น
ทาง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ลูกจ้างลาออกต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ถ้าไม่บอกกล่าวก่อน หรือออกไปทันที แม้ไม่ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติ การลาออกก็ตาม หากเกิดความเสียหาย นายจ้างสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากลูกจ้างได้ และหากไม่เกิดความเสียหาย หรือนายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ว่าเสียหายอย่างไร ศาลก็เพียงแต่ยกฟ้องเท่านั้น
โดยตามฎีกาที่ 10614/2558 เรื่อง ลูกจ้างลาออกจากงานไม่ถูกต้อง เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคสอง และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 อันเป็นเหตุให้นายจ้างมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้แต่การกำหนดจำนวนค่าเสียหาย เป็นดุลพินิจของศาล ทั้งนี้โพสต์ดังกล่าว ไม่ตรงกับข้อกฎหมายส่งเสริมให้ลูกจ้างทำการลาออกไม่ถูกต้องตามระเบียบ สัญญา และตามข้อกฎหมาย แม้ไม่มีโทษทางอาญาแต่ก็อาจนำมาซึ่งปัญหาแรงงาน ปัญหาการฟ้องร้องกันไปมาได้
แต่อย่างไรก็ตาม หากสัญญาจ้างของหน่วยงาน มีการระบุเกี่ยวกับการแจ้งลาออกล่วงหน้าก่อน 30 วัน ลูกจ้างควรต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เพื่อให้ถูกต้องตามกฎระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ
ดังนั้น ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ https://www.labour.go.th/ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : มาตรา 17 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้า แต่กรณีที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ลูกจ้างต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานนั้นๆ
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน , ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม