ตัวเลขติดเชื้อภูเก็ตยังน่าห่วง พบรายใหม่ในจังหวัดวันละกว่า 400 ราย
ตัวเลขติดเชื้อภูเก็ตยังน่าห่วง พบรายใหม่ในจังหวัดวันละกว่า 400 ราย ไม่เป็นคลัสเตอร์ใหญ่แต่กระจาย ส่งผลกระทบการบริหารจัดการคลินิกอุ่นใจ เร่งแก้ปัญหาลดขั้นตอนและเพิ่มทางเลือกไม่ต้องพบแพทย์แต่รับยา “ฟาวิพิราเวียร์” กรณีแข็งแรงและไม่มีอาการ กักตัวเองที่บ้านได้
จากสถานการณ์โควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงถึงวันละ 500-600 คน โดยเป็นผู้ติดเชื้อภายในจังหวัดประมาณ 450 คน และผู้ติดเชื้อจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์กับเทสต์แอนด์โก เฉลี่ย100-150 คนต่อวัน เป็นเวลามากว่า 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งที่ทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK และมีผลเป็นบวกอีกจำนวนไม่ต่ำกว่าวันละ 200 คน ซึ่งในกลุ่มหากต้องการยืนยันผลตรวจจะต้องเข้าไปตรวจซ้ำที่ “คลินิกอุ่นใจ” ซึ่งมีศักยภาพในการรองรับได้วันละ 400 คน แต่ปรากฏว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีข้อมูลผู้เข้ารับการตรวจวันละกว่า 600 ราย ซึ่งส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่แสดงอาการ ทำให้บางรายต้องรอคิวนานหรือต้องรอ 1-2 วัน เบื้องต้นในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ทางคลินิกอุ่นใจ ได้แก้ปัญหา โดยกำหนดให้ผู้ที่มีผลตรวจเป็นบวก ซึ่งมีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีอาการ มารับยา “ฟาวิพิราเวียร์” ได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ เพียงแต่แสดงหลักฐานการตรวจหาเชื้อต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อลดความแออัดและระยะเวลาในการพบแพทย์ จึงทำให้เห็นภาพของผู้ป่วยที่มารับยาเป็นจำนวนมาก จนเป็นที่วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา
เกี่ยวกับสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งนายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตพบผู้ติดเชื้อในจังหวัดเฉลี่ยวันละ 460-480 คน และในส่วนของชาวต่างชาติที่เข้ามารูปแบบของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และเทสต์แอนด์โก วันละประมาณ 100 คน ซึ่งเป็นการตรวจที่เดย์ศูนย์ประมาณร้อยละ 1.5 และตรวจเมื่ออยู่ครบ 5-7 วัน พบติดเชื้อประมาณร้อยละ 3 โดยในส่วนของผู้ติดเชื้อในจังหวัดวันละกว่า 400 คน เป็นการตรวจด้วย RT-PCR ส่วนการตรวจด้วย ATK พบผู้มีผลเป็นบวกวันละประมาณ 200 คน รวมทั้ง 2 ยอดจะพบผู้ติดเชื้อประมาณ 700-800 คนต่อวัน เนื่องจากร้อยละ 90 เป็นเชื้อโอมิครอนซึ่งติดได้ง่าย แต่รักษาหายเร็วใช้เวลาประมาณ 10 วัน โดยกระจายไปในกลุ่มต่างๆ ไม่ได้เป็นคัสเตอร์ใหญ่ เนื่องจากมีการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ เช่น สถานประกอบการ ร้านอาหาร สถานศึกษา เป็นต้น เพื่อนำคนติดเชื้อเข้ากระบวนการรักษา รวมถึงประชาชนทั่วไป
ทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ กล่าวถึงขั้นตอนการรักษาว่า เมื่อมีการตรวจหาเชื้อด้วย ATK และพบเป็นบวกจะให้มาตรวจซ้ำที่คลินิกอุ่นใจ เพื่อทำการคัดกรองว่า มีอาการมากน้อยเพียงใด หากอาการไม่มากและไม่อันตรายจะให้รับยาและกักตัวที่บ้านหากมีความพร้อม ปัจจุบันมีผู้เข้าระบบรักษาตัวที่บ้านแล้วประมาณ 4,000 ราย ส่วนของการเข้ารับการตรวจที่คลินิกอุ่นใจนั้นมีผู้มาใช้บริการวันละ 400-500 คน จึงทำให้มีการรอนาน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากขั้นตอนการทำเอกสารที่จะต้องมีการจัดทำบันทึกข้อมูลบุคคลหรือการกักตัวที่บ้าน จากการพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องและรับผิดชอบจะปรับรูปแบบ เพื่อลดขั้นตอนในเรื่องเอกสารในกรณีที่กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ยกเว้นผู้ที่มีอาการในกลุ่มสีเหลืองหรือสีแดงที่จะต้องพบแพทย์ที่จะต้องดำเนินการเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม เพราะมีข้อมูลว่า ผู้ที่ผลเป็นบวกกว่าร้อยละ 90 ไม่แสดงอาการ แต่หากเมื่อกลับไปอยู่บ้านแล้วมีอาการก็สามารถมาพบแพทย์ได้