เช็ควิธีเขียน "ชื่อเมือง" ล่าสุด ไม่ใช่แค่ "Krung Thep Maha Nakhon" อีกหลายเมืองก็ต้องอัปเดต

เช็ควิธีเขียน "ชื่อเมือง" ล่าสุด ไม่ใช่แค่ "Krung Thep Maha Nakhon" อีกหลายเมืองก็ต้องอัปเดต

ชวนอัปเดตการเขียน "ชื่อเมือง" จากราชบัณฑิตยสภาฯ ล่าสุด ที่ไม่ได้มีแค่ "Bangkok" เป็น "Krung Thep Maha Nakhon" แต่มีการปรับปรุงวิธีการเขียน "ชื่อภาษาไทย" แบบใหม่เพิ่มเติมให้กับหลายเมือง.. มาอัปเดตกันที่นี่ เห็นที่ไหน จะได้ไม่งง

จากมติ ครม. เมื่อ 15 ก.พ.65 ที่มีการเห็นชอบ “ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนด ชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง” ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรี (นร.) โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเสนอ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การปรับการเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษของ “กรุงเทพมหานคร” จากเดิม “Krung Thep Maha Nakhon; Bangkok” เป็น “Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)”​ โดยให้เก็บชื่อเดิม(Bangkok)ไว้ในวงเล็บ และส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากมีความคิดเห็นต่างๆ กันไปนั้น

ล่าสุด วันที่ 16 ก.พ. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยยืนยันว่า เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของทางราชการ เท่านั้น โดยในทางปฏิบัติ "กรุงเทพมหานคร" ยังคงใช้ได้ทั้ง "Krung Thep Maha Nakhon" และ "Bangkok"

  • นอกจาก Krung Thep Maha Nakhon ยังปรับการเขียนภาษาไทยของบางเมืองเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ตามร่างประกาศดังกล่าว ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตฯ ได้ประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ก่อนจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. ตามที่เป็นข่าวไปนั้น นอกจากการปรับวิธีเขียนชื่อภาษาอังกฤษของ “กรุงเทพมหานคร” แล้ว ยังได้มีการกำหนดการเขียนภาษาไทยของชื่อประเทศ เขตการปกครอง หรือเมืองอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

โดยให้เหตุผลของการอัปเดตว่า ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมถึงเป็นไปตามการออกเสียงของเจ้าของภาษา และแก้ไขตัวสะกดชื่อตาม เนื่องจากปัจจุบันมีประเทศ เขตการปกครอง หรือ เมืองหลวง เกิดขึ้นใหม่ บางประเทศแยกตัวเป็นอิสระจากกัน บางประเทศเปลี่ยนระบอบการปกครองและเปลี่ยนชื่อประเทศ บางประเทศหรือบางเขตการปกครองได้เปลี่ยนเมืองหลวงหรือ เปลี่ยนชื่อเมืองหลวงใหม่

ประกอบกับสำนักงานราชบัณฑิตยสภาได้แก้ไขการเขียนชื่อประเทศ เขตการปกครอง และเมืองหลวง ตามการออกเสียงของเจ้าของภาษา และแก้ไขตัวสะกดชื่อตามหลักเกณฑ์การทับศัพท์ที่สำนักงานราชบัณฑิตยสภาปรับปรุงและจัดทำเพิ่มขึ้นอีกหลายภาษา

จึงเป็นที่มาของการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงการกำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

  • ตัวอย่าง "ชื่อเมือง" สะกดแบบใหม่เพิ่มเติม

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนตามไปอัปเดตตัวอย่างชื่อเมืองที่เราได้เห็นหรือได้ยินกันบ่อยๆ ว่า หลังจากนี้ จะมีอีกหนึ่งชื่อ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อจะได้ไม่งง เมื่อพบเห็นคำแปลกๆ เหล่านี้ 

ยกตัวอย่างเช่น 

- กัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวงมาเลเซีย) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ กัวลาลุมปูร์

- โรม (เมืองหลวงอิตาลี) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ โรมา

- บันดาร์เสรีเบกาวัน (เมืองหลวงบรูไน) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ บันดาร์เซอรีเบอกาวัน

- พนมเปญ (เมืองหลวงกัมพูชา) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ พนุมปึญ

- ปักกิ่ง (เมืองหลวงสาธารณรัฐประชาชนจีน) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ เป่ย์จิง

- ฮานอย (เมืองหลวงเวียดนาม) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ ห่าโหน่ย 

- เบอร์ลิน (เมืองหลวงเยอรมนี) มีอีกชื่อหนึ่ง คือ แบร์ลีน

- วอร์ซอ (เมืองหลวงโปแลนด์) อีกชื่อ คือ วาร์สซาวา

- เบิร์น (เมืองหลวงสวิตเซอร์แลนด์) อีกชื่อ คือ แบร์น

- เสียมราฐ (จังหวัดในกัมพูชา) อีกชื่อ คือ เซียมเรียบ

- พระสีหนุ (จังหวัดในกัมพูชา) อีกชื่อ คือ ซีฮะนุวิลล์

- กวางตุ้ง (มณฑลในจีน) อีกชื่อ คือ กว่างตง

- ฮ่องกง (เขตบริหารพิเศษของจีน) อีกชื่อ คือ เซียงก่าง

- มาเก๊า (เขตบริหารพิเศษของจีน) อีกชื่อ คือ เอ้าเหมิน

- มิลาน (เมืองในอิตาลี) อีกชื่อ คือ มีลาโน

- ปีนัง (รัฐในมาเลเซีย) อีกชื่อ คือ ปูเลาปีนัง เป็นต้น

 

อ้างอิง : ประกาศสำนักงานราชบัณฑิตยสภา