สูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" เสี่ยงสูงติดโควิด - กล้ามเนื้อหัวใจตาย
เตือนภัยสุขภาพ คนชอบสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" เสี่ยงติดโควิดสูงถึง 5-7 เท่า หนำซ้ำยังเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย 1.79 เท่า
วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 เตือนภัยสุขภาพนักสูบ ที่ชอบ "สูบบุหรี่ไฟฟ้า" เสี่ยงติดโควิดสูง 5-7 เท่า ซ้ำยังเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย 1.79 เท่า ซึ่งจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ที่ผ่านมา หลายระลอกจนถึงปัจจุบัน เชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังมีการพัฒนากลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขให้ความรู้ รณรงค์มาตรการป้องกันตนเองเพื่อสร้างวัฒนธรรมพฤติกรรมการป้องกันตนเองสูงสุด (Universal Prevention) อย่างเคร่งครัด แต่พฤติกรรมการสูบบุหรี่กลุ่มวัยรุ่นและประชาชนปัจจุบัน ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดโควิด-19 มากขึ้น โดยหากผู้สูบบุหรี่ธรรมดาติดโควิดจะเสี่ยงมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 2 เท่า
จากผลการวิจัยล่าสุด พบว่า กรณีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเสี่ยงติดโควิดมากกว่าผู้ไม่สูบ 5-7 เท่า เนื่องจากพฤติกรรมผู้สูบจะต้องถอดหน้ากากอนามัยเป็นเวลานาน และมีหลักฐานเพิ่มขึ้นว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลันจากเส้นเลือดหัวใจตีบ หากมีการสูบติดเป็นประจำทุกวันจะเป็นอันตรายต่อหัวใจและหลอดเลือดได้ เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย 1.79 เท่าของคนที่ไม่สูบ
นอกจากนี้การพ่นควันบุหรี่ไฟฟ้าที่มีจำนวนมาก ส่งผลต่อคนรอบข้าง หากสูบในบ้านในครอบครัวจะทำให้ได้รับสารนิโคตินจากควันบุหรี่ไฟฟ้ามือสองและเสี่ยงรับละอองฝอยที่พ่นออกมาตามไปด้วย
ดังนั้นในสถานการณ์ที่ "บุหรี่ไฟฟ้า" กำลังนิยมในกลุ่มเยาวชนนักสูบหน้าใหม่อย่างแพร่หลาย จากสถิติล่าสุดในปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเกือบ 80,000 คน ซึ่งหากบุหรี่ไฟฟ้ามีอำนาจเสพติดเท่ากับบุหรี่ที่มีอยู่ทุกวันนี้
โลกจะเกิดประชากรที่เสพติดบุหรี่ไฟฟ้าไปตลอดชีวิตทดแทน หรือเพิ่มเติมจากประชากรที่สูบบุหรี่ธรรมดามากขึ้น มาร่วมกันแสดงออกความรักให้กับตัวเองและครอบครัวตั้งแต่วันนี้ "เลิกสูบ ลดเสี่ยง คุณทำได้"
ข้อมูลจาก : ศ. เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาทกกิจ นักวิชาการ อาจารย์แพทย์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอดและประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ งานแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2564
พญ. เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี