คนไทยรู้จัก “PM 2.5” ดีแค่ไหน? เมื่อฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ ทะลุอันดับ 6 ของโลก!

คนไทยรู้จัก “PM 2.5” ดีแค่ไหน? เมื่อฝุ่นพิษในกรุงเทพฯ ทะลุอันดับ 6 ของโลก!

“PM 2.5” กลับมาสร้างความกังวลให้ชาวกรุงอีกครั้ง เพราะวัดค่าฝุ่นได้ในระดับสูงจนพุ่งติดอันดับ 6 ของโลกเมื่อเช้านี้ ชวนคนไทยทำความเข้าใจอีกครั้งว่า "ฝุ่นพิษ" อันตรายแค่ไหน และภาครัฐเคยออกมาตรการอะไรมาแก้ปัญหาเรื่องนี้บ้าง?

เช้าวันนี้ (17 ก.พ. 65) มีรายงานว่า ค่ามลพิษ “PM 2.5” ในไทยพุ่งขึ้นสูงเกินมาตรฐานกว่า 40 พื้นที่ และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปรีเช็คว่า ตั้งแต่คนไทยได้รู้จัก “ฝุ่น PM 2.5” มาเป็นเวลาหลายต่อหลายปี เราเข้าใจมันดีจริงๆ แค่ไหน ต้นตอของฝุ่นเกิดจากอะไร แล้วรัฐบาลเคยมีมาตรการอะไรมาแก้ไขปัญหานี้บ้าง? ชวนหาคำตอบไปพร้อมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

1. ฝุ่น PM 2.5 อันตรายแค่ไหน?

  • ลักษณะของฝุ่น PM 2.5: มาทบทวนกันอีกครั้ง “ฝุ่น PM 2.5” คือฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาคเล็กมากกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่หากฝุ่นมีปริมาณมากในอากาศ ก็สามารถมองเห็นเป็นหมอกหรือควันได้
  • สาเหตุ: มักมาจากควันท่อไอเสีย ควันบุหรี่ การเผาไหม้สิ่งต่างๆ รวมไปถึงการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานด้วย ซึ่งความอันตรายอยู่ที่ ฝุ่นที่เล็กมากแบบนี้ สามารถลอดผ่านเข้าจมูก ไปยังหลอดลม ลึกจนถึงถุงลมปอด และอาจเข้าสู่กระแสเลือดได้ 
  • ผลเสียต่อร่างกาย: ส่วนใหญ่จะทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้แสบจมูก ไอ มีเสมหะ หากมีโรคประจำตัวอาจทำให้เกิดโรคหอบหืด หรือถุงลมโป่งพองได้ และในระยะยาวอาจทำให้เกิดมะเร็งปอด นอกจากนี้ฝุ่นยังสามารถซึมเข้าทำลายผิวหนัง ทำให้เกิดริ้วรอยและการอุดตันของผิวได้ด้วย
  • วิธีการป้องกัน: ยังคงต้องสวมหน้ากากชนิดที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ และหากอยู่ในอาคารหรือที่พักอาศัย ควรใช้เครื่องฟอกอากาศช่วยกำจัดฝุ่นเพิ่มเติม รวมถึงการปลูกต้นไม้ฟอกอากาศก็อาจช่วยให้อากาศดีขึ้นได้เช่นกัน

 

2. ภาครัฐเคยออกมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นยังไงบ้าง?

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยประสบปัญหาฝุ่นพิษเกินมาตรฐานสูง โดยเฉพาะในช่วงต้นปี ประเทศไทยมักจะพบปัญหาฝุ่น PM2.5 ระดับรุนแรงที่ภาคเหนือ และภาคกลาง โดยภาครัฐเคยออกมาตรการแก้ไขมาหลายมาตรการ ได้แก่

  • เสนอให้ประชาชนใช้รถโดยสารไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด และเครื่องยนต์ดีเซล และพยายามเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้า
  • ตั้งสถานีวัดคุณภาพอากาศเพื่อรายงานผลทุกวัน โดยสั่งให้กรมควบคุมมลพิษประสานงานกับ กทม. และปริมณฑล
  • ทำความสะอาดหรือล้างถนนบ่อยขึ้น ฉีดพ่นน้ำในอากาศเพื่อลดฝุ่นละออง และบังคับไม่ให้เผาขยะในที่โล่ง หรือเผาไร่นา
  • แจกหน้ากากอนามัย N95 ให้แก่กลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วย คนชรา เด็ก และผู้ปฏิบัติงานใกล้ชิดแหล่งมลพิษ
  • ตรวจจับรถที่มีเขม่าควันดำ ทั้งรถส่วนตัว รถบรรทุก รถสาธารณะ และรณรงค์ไม่ให้สตาร์ทรถทิ้งไว้หากไม่จำเป็น
  • ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า และปรับลดให้มีการใช้พื้นที่ก่อสร้างบนถนนแคบลง
  • ทำฝนหลวงและใช้โดรนโปรยน้ำยาสารเคมีบนชั้นอากาศ เพื่อบรรเทาฝุ่นละออง

3. เช็ค 5 เขตใน กทม. PM 2.5 เกินมาตรฐาน 

วันนี้ 17 ก.พ. 65 เวลา 07.00 น. ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ 39-72 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่ 5 เขตของกรุงเทพฯ (มาตรฐานต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) มีดังนี้

  • เขตประเวศ ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 72 มคก./ลบ.ม.
  • เขตวังทองหลาง ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 72 มคก./ลบ.ม.
  • เขตสาทร ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 72 มคก./ลบ.ม.
  • เขตคลองสาน ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 71 มคก./ลบ.ม.
  • เขตบางนา ตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 69 มคก./ลบ.ม.

----------------------------------------
อ้างอิง : โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล, Greenpeace, กรมควบคุมมลพิษ, สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ