สมอ. ร่วมกับ ปคบ. ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

สมอ. ร่วมกับ ปคบ. ทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท

สมอ. ร่วมกับ ปคบ. ทำลายสินค้า ไม่ได้มาตรฐาน ที่ตรวจยึดได้ ตั้งแต่เดือน ก.ค. 63 ถึง ม.ค. 65 รวมกว่า 1 ล้านชิ้น มูลค่า 40 ล้านบาท

ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดเป็นนโยบายเพื่อนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ให้ดำเนินการตรวจควบคุม และกำกับติดตามสินค้าที่จำหน่ายในท้องตลาดอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง หากไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังการทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในวันนี้ 21 ก.พ.65 ว่า สมอ. พร้อมด้วยพล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ.วริษฐ์ ปทุมารักษ์ ผกก.3 บก.ปคบ. และผู้บริหาร บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ได้จัดการทำลายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นสินค้าที่ สมอ. และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและยึดอายัดไว้ทั้งที่จำหน่ายในท้องตลาดและทางออนไลน์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 - มกราคม 2565 จำนวนกว่า 1 ล้านชิ้น มูลค่ารวมกว่า 40 ล้านบาท ได้แก่

ของเล่น ไฟแช็กก๊าซ เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับดูแลผิวและผม เตารีด ลำโพงพร้อมเครื่องขยาย เตาย่างเตาปิ้ง เตาไมโครเวฟ พัดลมไฟฟ้า หม้อหุงข้าวไฟฟ้า เต้าเสียบเต้ารับ ปลั๊กพ่วง กระทะไฟฟ้า ฝักบัวอาบน้ำ ก๊อกน้ำ หมวกกันน็อค ท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ หัวนมยาง ของเล่น ฟิล์มยืดหุ้มห่ออาหาร เซลส์และแบตเตอรี่ เป็นต้น

 

ซึ่งเมื่อคดีสิ้นสุดแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการทำลายให้สิ้นสภาพด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเหล่านี้กลับไปหมุนเวียนในท้องตลาดหรือนำกลับมาใช้ได้อีก เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค

สำหรับกระบวนการทำลาย สมอ. ได้ร่วมกับบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด โรงไฟฟ้ามาบตาพุด อีโค่-เอ็นเนอร์ยี แพลนท์ ซึ่งเป็นโรงกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า ที่สามารถรองรับขยะอุตสาหกรรมได้หลากหลายประเภทและหลายขนาด ทั้งที่เป็นอันตรายและไม่เป็นอันตราย โดยกระบวนการดำเนินงาน ทุกขั้นตอนเป็นแบบระบบปิด มีระบบการควบคุมมลพิษ และของเสียตามมาตรฐานสากล

ตั้งแต่การรับขยะอุตสาหกรรมจากผู้ประกอบการ การขนส่งไปยังจุดคัดแยกประเภทเพื่อเตรียมกำจัด การเข้าสู่กระบวนการกำจัดด้วยเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชั่น ร่วมกับแอชเมลติ้ง (Gasification with Ash Melting) ซึ่งเศษวัสดุที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะลูมิเนียม เหล็ก เถ้าลอย ยังนำกลับไปใช้ใหม่ได้ ส่วนวัสดุเผาไหม้ไม่ได้ (Incombustible) สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบแทนการก่อสร้างถนนได้ โดยกระบวนการนี้ทำให้ไม่เหลือขยะอุตสาหกรรมที่ต้องกำจัดเพิ่ม นอกจากวัสดุที่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีกตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน

“การทำลายสินค้าไม่ได้มาตรฐานในวันนี้ เป็นไปตามนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งหากสินค้ามีคุณภาพมาตรฐานก็จะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่จะขายสินค้าได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน จึงขอฝากเตือนไปยังผู้ทำ ผู้นำเข้า ผู้ขายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานว่า อย่าได้พยายามฝ่าฝืนกฎหมาย เพราะนอกจากจะถูกดำเนินคดีแล้ว ยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายจากการทำลายสินค้าอีกด้วย สำหรับประชาชนผู้ซื้อสินค้าขอให้ซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมาย มอก. และมี QR Code ที่ตัวสินค้า เพื่อความมั่นใจว่าจะได้สินค้าดี มีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐาน” เลขาธิการ สมอ. กล่าว