ส่องความแม่นยำ "เครื่องจับเท็จ" จับโกหกได้เที่ยงตรงแค่ไหน?
ชวนรู้ “เครื่องจับเท็จ” ตรวจสอบคำโกหกได้แม่นยำแค่ไหน? แล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจมีวิธีสังเกตอัตราการหายใจ ความดันโลหิต กระแสไฟฟ้า และกล้ามเนื้ออย่างไร? จึงจะทราบว่าบุคคลนั้นๆ กำลังโกหกหรือพูดความจริง หาคำตอบได้ที่นี่
จากกรณีข่าวอุบัติเหตุพลัดตกเรือของนักแสดงสาว "แตงโม" ที่เกิดขึ้น ในระหว่างการทำคดีพบความเคลื่อนไหวว่า ผบช.ภ.1 เตรียมใช้เครื่องจับเท็จมาตรวจสอบกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และอาจมีการเรียกเก็บอุปกรณ์สื่อสารของกลุ่มดังกล่าวมาตรวจสอบเพิ่มเติม
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนรู้ ความแม่นยำของ “เครื่องจับเท็จ” จับการโกหกได้เที่ยงตรงแค่ไหน? ไปหาคำตอบกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
1. "เครื่องจับเท็จ" คืออะไร?
เครื่องจับเท็จหรือเครื่องโพลีกราฟ (Polygraph) เป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นเพื่อนำมาใช้ตรวจจับการโกหก มักใช้ในการสอบสวนคดีความผิด โดยเครื่องจะแสดงกราฟผลลัพธ์การหายใจ การเต้นของชีพจร ความดันโลหิต อุณหภูมิ และการขยายตัวของปอดไปยังคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะบ่งบอกได้ว่าผู้ถูกทดสอบกำลังพูดความจริงหรือไม่
โดยค่าผลลัพธ์ที่แสดงบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ระหว่างคนที่โกหกกับคนที่พูดความจริงจะมีความแตกต่างกัน ตรงที่ระดับความวิตกกังวล ความเครียด หรือเหงื่อที่เกิดขึ้นขณะสอบสวนด้วย (แต่ผลลัพธ์จากอุปกรณ์นี้ไม่สามารถใช้ยืนยันในชั้นศาลได้)
ทั้งนี้ เมื่อทำการทดสอบ ตัวเครื่องจะจับการเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมดของผู้เข้ารับการทดสอบประมาณ 4-6 จุด และเมื่อผู้ถูกทดสอบตอบคำถาม จะมีการแสดงผลกราฟที่ชัดเจน พร้อมทั้งตัวเครื่องยังสามารถบันทึกเสียงและวิดีโอเพื่อเป็นหลักฐานได้อีก
2. เครื่องจับเท็จทำงานอย่างไร?
การทำงานของเครื่องจับเท็จ มี 4 ส่วน ดังนี้
- วัดอัตราการหายใจ (Pneumograph tube)
ส่วนนี้จะมีสายยางที่เติมอากาศ นำมารัดรอบอกและช่องท้องของผู้ถูกสอบสวน ซึ่งจะจับการทำงานของปอด หากช่องท้องขยาย ตัวท่อจะเบียดเข้าและส่งสัญญาณไฟฟ้า
- วัดความดันโลหิต (Blood Pressure Cuff)
ใช้วิธีพันแถบวัดความดันโลหิตที่ต้นแขนและต่อเข้ากับเครื่องตรวจ หากมีเลือดสูบฉีดผ่านแขนจะส่งสัญญาณเสียงไปแทนที่อากาศในหลอด
- วัดความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง (Galvanic Skin Response GSR)
ตรงที่จานรองนิ้วจะเป็นเครื่องวัดกระแสไฟฟ้า หากมีเหงื่อออกที่ปลายนิ้วหรือผิวหนังชื้น จะนำกระแสไฟฟ้าได้ง่ายกว่าผิวหนังที่แห้ง
- การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อ
เครื่องจับเท็จยังมีถุงลมยางที่ติดกับพนักเก้าอี้ ซึ่งสามารถบันทึกการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ หากพูดเท็จการแสดงผลกราฟจะแกว่งขึ้น-ลง อย่างไม่คงที่
------------------------------
อ้างอิง: Thailand Polygraph Association, Orion Investigations