โผล่รายวัน "มิจฉาชีพ" ลุงเจอกับตัวอ้างเป็น ตำรวจหญิง โทรขู่หลอกให้โอนเงิน

โผล่รายวัน "มิจฉาชีพ" ลุงเจอกับตัวอ้างเป็น ตำรวจหญิง โทรขู่หลอกให้โอนเงิน

โผล่รายวัน "มิจฉาชีพ" มารูปแบบใหม่ ลุงเจอกับตัวอ้างเป็น "ตำรวจหญิง" โทรข่มขู่หลอกให้โอนเงิน โชคดีไหวตัวทันเลยรอดตกเป็นเหยื่อ

วันที่ 2 มีนาคม 2565 "มิจฉาชีพ" มารูปแบบใหม่ อ้างเป็น "ตำรวจหญิง" โทรข่มขู่เหยื่อหลอกให้โอนเงิน โชคดีเหยื่อไหวตัวทันเพราะเห็นข่าวจากทีวีเยอะเลยช่วยให้รอด

 

 

วันที่ 2 มีนาคม 2565 นายปราจีน ชุ่มใจ อายุ 63 ปี ทำงานเป็นช่างอยู่โรงแรมนครพิงค์พาเลชในตัวเมืองเชียงใหม่ เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ว่า ก่อนหน้านั้นได้มีแก๊ง 18 มงกุฎ "มิจฉาชีพ" เป็นผู้หญิง 2 คน คนแรกอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร คนที่ 2 แต่งกายเป็นตำรวจหญิงอ้างว่าเป็นตำรวจอยู่ สภ.แหลมฉบัง โทรศัพท์ แบบ Video Call มาข่มขู่ตนให้โอนเงินไปให้ตรวจสอบ

 

โดยสายแรกที่โทรมาหาตนนั้นอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งหนึ่งว่า ตนได้ไปทำบัตรเครดิตและนำบัตรไปรูดซื้อของในพื้นที่แหลมฉบัง ซึ่งก็งงมากเพราะอยู่แต่เชียงใหม่ไม่เคยไปที่แหลมฉบังเลย และหญิงคนดังกล่าวยังสอบถามอีกว่าเงินในบัญชีตนตอนนี้มีเท่าไหร่ และห้ามโยกย้ายเงินออกจากบัญชีเด็ดขาดเพราะกำลังตรวจสอบเงินในบัญชีของตน โดยอ้างว่าเป็นบัญชีที่ใช้ในการฟอกเงินเกี่ยวกับยาเสพติด โชคดีที่ตนมีเงินเหลือในบัญชีแค่ 1,000 กว่าบาท จึงไหวตัวทันรีบไปถอนเงินออกจากบัญชีมาก่อน

 

 

นายปราจีน เล่าอีกว่า ขณะเดียวกันก็มีผู้หญิงอีกคนโทรศัพท์ผ่านเข้ามาทางแอพพลิชั่น Line แบบ Video Call โดยมีภาพหน้าจอแสดงภาพ สภ.แหลมฉบัง และหญิงที่โทรศัพท์มาข่มขู่ได้แต่งกายเป็นตำรวจหญิงอีกด้วย ซึ่งบอกว่าตนเข้าไป พัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติดและสงสัยจะมีการใช้บัญชีตนฟอกเงิน จึงให้ตนโอนเงินในบัญชีไปให้ตรวจสอบ แต่ตนไหวตัวทันเพราะว่าดูข่าวทางทีวีทุกวัน และผู้ประกาศข่าวได้แจ้งเตือนประชาชนในเรื่องนี้มาตลอดเลยทำให้ไม่ตกเป็นเหยื่อ ของแก๊งดังกล่าว

 

แม้ว่าแก๊ง "มิจฉาชีพ" พวกนี้จะใช้ชื่อโรงพักและแต่งกายเป็นตำรวจหญิงโทรมาหลอกล่อตนก็ตาม แต่ตนก็ไม่เชื่อจึงได้ตัดสายทิ้ง และรีบมาแจ้งความกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเอาไว้เป็นหลักฐาน